สรรพสามิตเล็งงัดภาษีแก้PM2.5

22 ม.ค. 2563 | 23:40 น.

รมว.คลังยัน รัฐให้ความสำคัญแก้ไขปัญหา PM 2.5 สั่งสรรพสามิตศึกษามาตรการภาษีเพื่อแก้ปัญหาแล้ว “พชร” ลั่นพร้อมดำเนินการ แต่มาตรการภาษีไม่ได้ช่วยแบบฉับพลัน ชี้หน่วยงานอื่นใช้กฎหมายควบคุมได้เร็วกว่า

 

หลังจากปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ทำให้หลายฝ่ายกังวลและเร่งให้รัฐบาลหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยด่วน เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งโดยนักวิชาการเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีฝุ่นในการก่อสร้างอาคารสถานที่หากพบว่า การก่อสร้างส่งผลให้เกิดฝุ่นปริมาณมาก จะถูกเก็บภาษีเพิ่ม

 

ล่าสุดนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและพยายามหาแนวทางแก้ไข โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะกรมสรรพสามิตศึกษาว่าจะสามารถมีมาตรการภาษีใดๆ ที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ได้หรือไม่ เพราะมาตรการภาษีเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยได้ แม้จะช่วยไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็พร้อมจะทำเต็มที่


 

 

ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า กรมได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาษีคาร์บอนฯว่าจะมีการจัดเก็บในส่วนอื่นได้อีกหรือไม่จากปัจจุบันที่จัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ในรถจักรยานยนต์ โดยเปลี่ยนจากการคำนวณตามปริมาตรกระบอกสูบ (CC) มาเป็นการคำนวณจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งผลมีบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา และยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ผลักดันให้เกิดการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV)ให้เร็วขึ้น รวมไปถึงปรับโครงสร้างพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตนํ้ามันดีเซล ที่มีการแบ่งช่วงปริมาณไบโอดีเซลที่ผสมในนํ้ามันดีเซลจากเดิม 2 ชนิดเป็น 6 ชนิด เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

เราไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องนี้ กรมเป็นหน่วยงานแรกๆของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 จึงเร่งรัดการใช้รถ EV ให้ออกมาเร็วขึ้นกว่ากำหนดและเรื่องนํ้ามันต่างๆ ซึ่งตอนนี้ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่า มาตรการภาษีที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษต่างๆ ไม่ได้เห็นผลทันตาและไม่ได้ช่วยทำให้ปัญหาหมดลงแบบฉับพลัน เพราะมาตรการภาษีต้องเป็นมาตรการต่อเนื่องที่ต้องดูจังหวะเวลา และไม่เป็นการผลักภาระให้กับผู้ประกอบการด้วย

พชร อนันตศิลป์

 

สำหรับความคืบหน้าการผลิตรถยนต์ EV นั้น รัฐบาลเตรียมผลักดันให้มีการจัดทำแผนแม่บทรถยนต์ EV อย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและผลิตจริงใน 3 ปีข้างหน้าให้ได้ ซึ่งแผนแม่บทจะทำให้ภาคเอกชนเห็นความชัดเจนและพร้อมเดินหน้าพัฒนาต่างๆ มากขึ้น จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้เช่นกัน โดยในส่วนของกรมสรรพสามิตจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ(...) กองทุนส่งเสริมและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในการบริหารจัดการการกำจัดแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV อย่างเป็นรูปธรรม ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา ด้วยการจัดเก็บค่ามัดจำแบตเตอรี่เข้ากองทุนสำหรับผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ EV ในอัตราไม่เกิน 1,000 บาทต่อหน่วย เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการบริหารจัดการการติดตามการกำจัดแบตเตอรี่เก่าที่หมดอายุการใช้งานตามกำหนดแล้ว  และผู้บริโภคจะได้รับเงินมัดจำคืนหลังส่งแบตเตอรี่เก่าคืนให้กับค่ายรถยนต์ที่ออกแบตเตอรี่ เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกต้อง และไม่เป็นขยะอิเล็ก ทรอนิกส์ตกค้างในประเทศ

 

การจัดเก็บภาษีกับอาคารที่เป็นต้นกำเนิดของฝุ่นจากการก่อสร้างต่างๆนั้น ควรเป็นมาตรการควบคุมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากกว่า ซึ่งปัจจุบันทางเขตและท้องถิ่นดำเนินการควบคุมเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะมีกฎหมายอื่นที่จะควบคุมที่เห็นผลได้ทันที

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,542 วันที่ 23-25 มกราคม 2563