ไอพีโอหมดเสน่ห์  พึ่ง‘กรีนชู’พยุงราคา     

24 ม.ค. 2563 | 03:00 น.

นักลงทุนกังวลกระแสไอพีโอตํ่าจอง FA แห่ออกหุ้นกรีนชูช่วยพยุงราคา หวังรักษาเสถียรภาพราคา 30 วัน โบรกฯ ชี้กรีนชูแค่ช่วยรักษาระดับ ไม่ช่วยดันราคาให้พุ่งสูง มองบางหุ้นราคาลดลงหลังหมดเวลาจากปัจจัยเฉพาะตัว

ในช่วงปี 2561-2562 มีหุ้นไอพีโอจำนวน 4 บริษัท ที่มีการใช้การจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้นในการซื้อขายวันแรก ไม่ให้ลดลงตํ่ากว่าราคาจองซื้อ มีระยะเวลา 30 วัน ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) เริ่มซื้อขายวันที่ 16 ธันวาคม 2562 มีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบล.ทรีนีตี้ จก. เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA), บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) (AWC) ซื้อขายวันที่ 10 ตุลาคม 2562 มีบล.กสิกรไทย จก. (มหาชน) บล.
บัวหลวง จก. (มหาชน) และบล.ภัทร จก. (มหาชน) เป็น FA, บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) (DOHOME) เริ่มซื้อขายวันที่ 6 สิงหาคม 2562 มีบล.ภัทร จก.(มหาชน) และบล.กสิกรไทย จก. (มหาชน) เป็น FA และบริษัท โรงพยาบาล
พระรามเก้า จำกัด (มหาชน) (PR9) เริ่มซื้อขายวันที่ 30 ตุลาคม 2561 มีบล.ภัทร จก. (มหาชน) เป็น FA

ข่าวเด่นฐานเศรษฐกิจ

90ไฟลต์จีนทะลักกระบี่

ตระกูลดัง-บ้านโบราณ ไม่สะท้าน ภาษีที่ดิน

เอกชนร้องคนกลุ่มเดียวทำศก.พัง ไตรมาสแรกจ่อไอซียู

ขณะที่หุ้นไอพีโอล่าสุด คือ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) ได้เสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 1,691,000,000 หุ้น โดยมีหุ้นกรีนชูจำนวนไม่เกิน 169.10 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 10% ของหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด ด้วยราคาเสนอขายที่หุ้นละ 40-43 บาท เปิดจองซื้อหุ้นได้ในระหว่างวันที่ 29 - 31 มกราคม และ 3 กุมภาพันธ์ 2563 มีบล.ภัทร จก. (มหาชน) และ บล.บัวหลวง จก. (มหาชน) เป็น FA ซึ่งคาดว่าจะกำหนดราคาไอพีโอในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 และเข้าซื้อขายได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จก. เปิดเผยว่า การซื้อขายหุ้นไอพีโอใหม่โดยมีการใช้กรีนชู เป็นขั้นตอนที่ช่วยรักษาระดับราคาหุ้นไม่ให้ตํ่ากว่าราคาจองซื้อ แต่ไม่จำเป็นต้องดันราคาให้ขึ้นไปสูงมาก โดยหุ้นไอพีโอที่หมดระยะเวลากำหนดใช้กรีนชูราคามีทั้งปรับลดลงและเพิ่มขึ้นนั้น (อ่านตารางประกอบ) มองว่าเป็นปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละบริษัท และช่วงเวลาจังหวะของภาวะตลาดโดยรวมด้วย

ไอพีโอหมดเสน่ห์  พึ่ง‘กรีนชู’พยุงราคา     

 

ทั้งนี้ หุ้นที่หมดระยะเวลาใช้กรีนชูนั้น มองว่า BAM ราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เร่งตัว ทำให้เป็นแหล่งพักเงินที่ดี ส่วน AWC ที่เข้าซื้อขายด้วยพี/อีในระดับสูงถึง 200 เท่า ซึ่งในระหว่างนั้นกรีนชูทำงานได้ดี ถึงแม้ราคาจะลดลงบ้างตามภาวะตลาดและอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่พอดี ขณะที่ CRC ที่จะเข้าซื้อขายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีลักษณะคล้ายกับ AWC ที่หลังจากเข้าซื้อขายแล้วจะถูกเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100 จากเกณฑ์มาร์เก็ตแคปที่เกิน 1% อีกทั้งมีกรีนชูเหมือนกัน แต่พี/อีน้อยกว่าอยู่ที่ประมาณ 30 - 32 เท่า ทำให้มองว่าราคาหุ้น CRC จะสามารถยืนในระดับที่เหนือราคาจองได้

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)ฯ กล่าวว่า การใช้กรีนชูในการซื้อขายหุ้นไอพีโอใหม่นั้น เป็นกลไกในการสร้างเสถียรภาพของราคาหุ้นให้ปรับขึ้นลงไม่มากนักในการซื้อขายวันแรก โดย FA ได้มีการประเมินความเสี่ยงของภาวะตลาด รวมถึงความต้องการซื้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งหากไม่ใช้กรีนชู อาจจะทำให้ราคาปรับขึ้นลงแรงเกินไปได้ ขณะที่หากราคาในช่วงที่ยังไม่หมดกรีนชูปรับเพิ่มขึ้น จะมีความเสี่ยงจากที่ FA จะซื้อหุ้นคืนไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ BAM ทาง FA ได้ทำสัญญากับผู้ออกหลักทรัพย์ว่าขอซื้อหุ้นเพื่อนำมาคืนผู้ถือหุ้นในราคาเท่ากับราคาไอพีโอ ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ยังมีกรีนชู ราคาหุ้นได้ปรับลดลงเพียง 3 วันเท่านั้น ทำให้ซื้อหุ้นคืนได้เพียง 12.95 ล้านหุ้น ส่งผลให้ BAM ต้องออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ FA จำนวน 217.04 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 17.50 บาท รวมมูลค่า 3,798.24 ล้านบาท ทั้งนี้มองว่าการเพิ่มทุนดังกล่าว จะมีผลต่อการลดทอนกำไรของบริษัทประมาณ 6.7%

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,542 วันที่ 23-25 มกราคม 2563