ต่อลมหายใจให้ประเทศ เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่เม.ย.นี้

21 ม.ค. 2563 | 11:47 น.

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เล็งเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ เม.ย.นี้ หวังช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้น หลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณและบงกช ลดลงเหลือ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คาดจะก่อให้เกิดการลงทุนขั้นต่ำประมาณ 1,500ล้านบาท

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายการขับเคลื่อนการเปิดประมูลให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีภารกิจการกำกับดูแลกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงการสรรหาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ไป ดำเนินการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อเพิ่มโอกาสในการแสวงหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ ของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงในการจัดหาเชื้อเพลิงธรรมชาติจากแหล่งภายในประเทศ

 

รวมถึงเพื่อรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไม่ให้ลดลง หลังจากปี 2565-2566 กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณและบงกชจะลดลงเหลือ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมถึงช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และสร้างรายได้ให้กับประเทศ  ทั้งในรูปแบบค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตลอดจนก่อเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพทั้งในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ไปจนถึงอุตสาหกรรมและธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังช่วยให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสำรวจใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศด้วย

ต่อลมหายใจให้ประเทศ เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่เม.ย.นี้

                                              นายสราวุธ แก้วตาทิพย์      

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว คาดว่าจะสามารถออกเอกสารประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจได้ในเดือนเมษายน 2563 นี้ และจะสามารถลงนามในสัญญากับผู้ที่ได้รับสิทธิ์ประมาณต้นปี 2564 ส่วนจะเปิดให้ประมูลสำรวจแหล่งปิโตรเลียมกี่แปลงนั้น ขณะนี้ กรมฯอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดพื้นที่และจำนวนแปลงสำรวจในอ่าวไทยที่จะเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เนื่องจากพื้นที่แปลงสำรวจบนบกยังติดปัญหาการเข้าใช้พื้นที่ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ต้องรอให้มีการแก้ไขกฏหมายเสียก่อน 

 

สำหรับการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ในพื้นที่อ่าวไทย จะดำเนินการภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) เนื่องจากเมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเรื่องค่าโอกาสการค้นพบปิโตรเลียม  ในเชิงพาณิชย์ว่า หากโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคใด มีค่าสูงกว่า 39% (ค่าเฉลี่ยของโอกาสการพบปิโตรเลียมของประเทศไทย) ให้ดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่นั้นใน “รูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต” ตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทานสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ  

      

อย่างไรก็ตาม การจะใช้ระบบใดในการเปิดประมูลนั้นต้องผ่านการพิจารณาและลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสียก่อน

ต่อลมหายใจให้ประเทศ เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่เม.ย.นี้

 

ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยได้สำเร็จ จะก่อให้เกิดการลงทุนในการสำรวจขั้นต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท และหากมีการสำรวจพบปิโตรเลียม    จะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทยมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อนธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม และส่งเสริมธุรกิจด้าน       การบริโภคและบริการในพื้นที่ที่มีการสำรวจและผลิตปิโตรลียม เช่น ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ภาคขนส่ง เป็นต้น

 

ปัจจุบันการจัดหาปิโตรเลียมในประเทศคิดเป็น 40 % ของความต้องการใช้ในประเทศ  มีผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม  38 สัมปทาน 48 แปลงสำรวจ แบ่งเป็นแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย 29 แปลง และแปลงสำรวจบนบก 19 แปลง มีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมทั้งก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบ คิดเป็นปริมาณรวมอยู่ที่ 821,060 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน (ตัวเลขเดือนมกราคม-ธันวาคม 2562) แบ่งเป็นการผลิตแต่ละประเภท ดังนี้ ก๊าซธรรมชาติ 3,411 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือ คิดเป็น 594,953 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน   (แหล่งในประเทศ+ส่วนที่ผลิตได้จาก MTJDA และส่งเข้าไทย)  ก๊าซธรรมชาติเหลว 110,318 บาร์เรล/วัน หรือ คิดเป็น 100,344 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน (รวมส่วนแบ่งผลผลิตปิโตรเลียมร้อยละ 50 จาก MTJDA)น้ำมันดิบ 125,762 บาร์เรล/วัน