รู้หรือไม่ ประเทศไทยมีแผนรับมือฝุ่นพิษ

22 ม.ค. 2563 | 04:40 น.

 

ฝุ่นพิษ หรือฝุ่นละอองเล็กๆ ขนาด PM 2.5 กลายเป็นปัญหาของกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และอีกหลายจังหวัด สถานการณ์รุนแรงชนิดที่ว่า ผลโพลล์ระบุถึงความไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

ผมเองจึงไปหาข้อมูลว่าหน่วยงานไหนกันที่ต้องร่วมภารกิจกู้วิกฤติฝุ่นของประเทศ ก็ไปพบว่าปัญหาฝุ่นถูกยกระดับการรับมือจากรัฐบาล ให้เป็น วาระแห่งชาติตามที่สังคมถามถึงมาตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งเห็นชอบ แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2562-2567

 

รู้หรือไม่  ประเทศไทยมีแผนรับมือฝุ่นพิษ

 

มีแนวทางแก้ปัญหาใน 3 มาตรการ มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤติ มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง แหล่งกําเนิด ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น 2562-2564 และระยะยาว 2565-2567 และสุดท้ายมาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น 2562-2564 และระยะยาว 2565-2567

มาตรการที่ 1 มีการแบ่งกลไกการปฏิบัติตามปริมาณของ PM 2.5 เป็น 4 ระดับ ระดับที่ 1 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินการภารกิจตามสภาวะปกติ ระดับที่ 2 ระหว่าง 51-75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ทุกหน่วยงานดำเนินมาตรการให้เข้มงวดขึ้น

ระดับที่ 3 ระหว่าง 76-100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์โดยใช้อำนาจตามกฎหมายควบคุมพื้นที่ แหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ และระดับที่ 4 มากกว่า 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเสนอมาตรการให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ


 

 

หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องระบุในมติครม. คือ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สํานักงานตํารวจแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องร่วมกันรับผิดชอบและต้องปฏิบัติตามเมื่อเข้าสู่มาตรการขั้นต่างๆ

มาตรการที่ 2 เป็นการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางหรือแหล่งกำเนิดมลพิษ แบ่งเป็น ยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง/ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การก่อสร้างและผังเมือง และภาคครัวเรือน โดยในส่วนของรถยนต์ 1. จะบังคับให้ใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ยูโร 6 ภายในปี 2565  2. บังคับให้ใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 3. พัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะ 4. ใช้มาตรการจูงใจ ส่งเสริมการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้า 5. เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ทั้งหมดให้เป็นรถโดยสารไฟฟ้า NGV และไฮบริด และ 6. ปรับปรุง แก้ไขการเก็บภาษีประจำปีสำหรับรถใช้งาน

ส่วนภาคการเกษตร 1. ไม่ให้มีอ้อยไฟไหม้ 100% ภายในปี 2565 2. ให้มีการนำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพทดแทนการเผา 3. ส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหรือไม้ยืนต้นทดแทนพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชที่มีการเผา 4. ห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่งและเผาขยะโดยเด็ดขาด และ 5. ป้องกันไฟป่าและจัดการไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

ส่วนภาคอุตสาหกรรม  1. กำหนดมาตรการอากาศเสียในรูป Loading ตามศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ 2. ให้มีการติดตั้ง CEMs โรงงานจำพวก 3 และ 3. ปรับปรุงมาตรฐานอากาศเสียให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

ส่วนการก่อสร้าง ผังเมืองและภาคครัวเรือน ถูกจัดอยู่ในแผนกลุ่มเดียวกันระบุว่า 1. ควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง บังคับใช้กฎหมาย 2. เพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่งเสริม CSR 3. ผลักดันการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4. ใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน และ 5. พัฒนา ส่งเสริมการใช้เตาไร้ควัน และถ่านปลอดมลพิษ

และมาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ แบ่งเป็น 1. การพัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ 2. ทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐาน แนวทางปฏิบัติ 3. ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ ประชาสัมพันธ์ 4. การแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน 5. การจัดทำบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศ และ 6. พัฒนาระบบฐานข้อมูล ระบบคาดการณ์

เมื่ออ่านแบบนี้ก็สบายใจได้เปราะหนึ่งว่า ประเทศไทยมีแผนรับมือฝุ่นพิษอย่างจริงจัง แต่คำถามที่ต้องถามดังๆ ว่า มีแผนแล้วถูกนำมาปฏิบัติจริงจังเพียงใดกัน

 

คอลัมน์ อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,542 วันที่ 23-25 มกราคม 2563