อัดงบฉุกเฉินหมื่นล. สู้แล้งทุบเศรษฐกิจ

20 ม.ค. 2563 | 07:00 น.

หน่วยงานรัฐอัดงบฉุกเฉินกว่าหมื่นล้านสู้วิกฤติแล้ง กรมชลฯ เพิ่มจ้างงาน 4.1 หมื่นคน ปศุสัตว์ผนึก ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อสร้างอาชีพใหม่ อุตฯดึงนำขุมเหมืองช่วย “อุตตม” ยันแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องระดับชาติ สศค. เตรียมประเมินผลกระทบเศรษฐกิจ

 

 

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานข้อมูล ณ วันที่ 16 มกราคม 2563 มีจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ทั้งสิ้น 20 จังหวัด ใน 98 อำเภอ 541 ตำบล 4,600 หมู่บ้าน ขณะที่ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ระบุความเสียหาย

ล่าสุดมีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 2.52 แสนราย พื้นที่คาดเสียหาย 2.26 ล้านไร่ เขื่อนน้อยใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณนํ้าใช้การได้เหลือน้อย ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมแผนงานและงบประมาณเพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบเร่งด่วนแล้ว รวมงบประมาณเฉพาะ 9 หน่วยงานรัฐกว่า 1 หมื่นล้านบาท (กราฟิกประกอบ)

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางกรมจะจ้างแรงงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (งบลงทุน) สำหรับงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งนํ้าระบบส่งนํ้าเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพนํ้าและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากนํ้า โดยจะดำเนินการจ้างแรงงานทุกภาคของประเทศ วงเงิน 3,100 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานได้ไม่น้อยกว่า 41,000 คน ระยะเวลา 3-7 เดือน เกษตรกรจะได้ค่าจ้างแรงงานระหว่าง 24,000-58,000 บาทต่อคน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ดำเนินการ เป็นมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในฤดูแล้งนี้ ใช้งบปกติของกรมชลฯ คาดจะได้งบประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะพยายามเริ่มให้เร็วที่สุด

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมมีมาตรการช่วยเหลือภัยแล้งปี 2563 3 โครงการ ได้แก่ 1.การสนับสนุนเงินลงทุนให้กับสมาชิกกู้ในเรื่องของการทำการเกษตรแบบผสมผสานทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ขุดแหล่งนํ้า เช่น ขุดสระ ขุดบ่อบาดาล เพื่อให้มีแหล่งนํ้าสำหรับทำการเกษตรได้ วงเงิน 500 ล้านบาท รายละ 5 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ย 1% ต่อปี ระยะเวลาการผ่อนชำระ 5 ปี

2. โครงการสนับสนุนเงินกู้แก่สหกรณ์ในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งเพื่อให้มีเงินทุนรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก (ที่ผลิตได้จากโครงการที่ 1) เมื่อปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์จะได้มีช่องทางจำหน่าย โดยจะให้สหกรณ์เป็นผู้รับซื้อวงเงิน 415 ล้านบาท ดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 ดอกเบี้ย 1% และ 3. โครงการปลูกข้าวโพดหลังนาระบบสหกรณ์ปี 2562/2563 เป็นโครงการต่อเนื่อง แต่ปีนี้จะกำหนดปลูกในพื้นที่สหกรณ์เป้าหมาย 28 จังหวัด งบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อจะให้สมาชิกสหกรณ์นำไปซื้อหาปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เป็นต้น ดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยดึงบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์รับซื้อผลผลิต

นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ และเพื่อเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ

ประกอบด้วย 1.โครงการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อ กิจกรรมการเลี้ยงโคขุน 2. โครงการส่งเสริมการผลิตกระบือ 3. โครงการส่งเสริมการผลิตแพะเนื้อ 4. โครงการการส่งเสริมการผลิตไก่พื้นเมือง 5. กิจการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศตามศักยภาพและแผนธุรกิจที่มีความชัดเจน ได้แก่ ธุรกิจศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) การผลิตพืชอาหารสัตว์ การผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ ธุรกิจการส่งขนและการกระจายสินค้า เป็นต้น โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้รายละ ไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยล้านละ 100 บาท/ปี กลุ่มละไม่เกิน 10 ล้านบาท

“ขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มไหนได้สินเชื่อ เพราะอยู่ในช่วงของการสร้างการรับรู้ในวงกว้าง โดยจะใช้วงเงินตามโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย 5 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 -30 พฤศจิกายน 2563 จะคิกออฟการปล่อยสินเชื่อได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป”

 

 

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงได้สั่งการให้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพนํ้าในแหล่งนํ้าขุมเหมืองที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 36 แห่ง ราว 105 บ่อ คิดเป็นปริมาณนํ้าทั้งสิ้น 166 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อนำไปจัดสรรในแต่ละพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างหนัก นอกจากนี้จะมีการพิจารณาอนุญาตให้นำนํ้าทิ้งจากโรงงานไปใช้ประโยชน์ ซึ่งพบว่ามีโรงงานประเภทแปรรูปการเกษตรที่มีนํ้าทิ้ง จำนวนทั้ง 3,103 โรง มีปริมาณนํ้าทิ้งที่ผ่านการบำบัดให้มีค่ามาตรฐานตามกฎหมายและพร้อมจะช่วยเหลือภาคเกษตรกรรม จำนวนรวม 3.77 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่รอบโรงงานกว่า 1,500 ราย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเผยว่า ในการประชุมบอร์ดธ.ก.ส. ต้นสัปดาห์หน้า จะรับฟังแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผล
กระทบจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือเพิ่มเติมหากไม่เพียงพอ เรื่องภัยแล้งนี้ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างเต็มที่และจริงจัง โดยระดับชาติมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

“ไม่รู้ว่าเรียกว่าวาระแห่งชาติหรือไม่ แต่ได้มีการดูแลและเตรียมแก้ไขปัญหาในระดับชาติ เพราะเกษตรกรเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่ต้องมีมาตรการในการดูแลให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืนมากขึ้น”

 

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยอมรับว่า ปัญหาภัยแล้งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สศค.จะนำมาประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งจะประกาศอย่างเป็นทาง การในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในครั้งนี้มีความรุนแรงและมาเร็วกว่าทุกปี ย่อมมีผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทย และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นเดียวกัน

“ประเมินผลกระทบตอนนี้ยังเร็วไป ต้องรอสักระยะเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาได้จัดการเรื่องนี้ก่อน แล้วเราค่อยมาดูว่าเราจะใช้มาตรการการเงินการคลังเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติมอะไรได้หรือไม่”

อัดงบฉุกเฉินหมื่นล.  สู้แล้งทุบเศรษฐกิจ

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19 - 22 มกราคม พ.ศ. 2563