พูดชัด “ทีโอที-แคท” ประมูล5G  การประมูล 5G เป็นการเปิดประตูสู่เทคโนโลยี

17 ม.ค. 2563 | 07:11 น.

ขณะที่ ดีแทค กำลังวุ่นๆ จะยื่นข้อเสนอประมูล5G ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 หรือ ไม่ หลัง เทเลนอร์ ฯ มีวัตถุประสงค์ประมูลย่าน 3500MHz

 

ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส มีนโยบายที่มุ่งเน้นให้สองหน่วยงานภายใต้สังกัด คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) ต้องเข้าร่วมประมูลโครงข่าย 5G  ที่สำนักงาน กสทช. จะนำออกประมูล ส่งเสริมการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับวิวัฒนาการของโลก โดยรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ
 

 

เจตนารมณ์ในการที่จะให้ทั้ง ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เข้าร่วมประมูล 5G ด้วยนั้น เพราะการสื่อสารผ่านโครงข่ายดิจิทัล ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับประชาชนในทุกวันนี้ จึงต้องมีกลไกในการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างสมดุลไม่ให้มีราคาแพงเกินไป โดยต้องเป็นการมุ่งเน้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
 

การประมูลโครงข่ายเทคโนโลยี 5G คือประตูสู่การมีเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ยิ่งประมูลได้เร็ว ก็เท่ากับว่าสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และเพิ่มการจ้างงาน ให้ทันกับผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งจะทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ 190 บริษัทย้ายฐานออกจากประเทศจีนไปยังประเทศใหม่ ประเทศไทยจึงต้องพร้อมมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีอย่าง 5G รองรับการลงทุนนี้ ไม่ให้ฐานการลงทุนย้ายไปเป็นประเทศอื่น