คลอด22คกก.ลุ่มน้ำจัดการน้ำทั้งประเทศ

16 ม.ค. 2563 | 09:48 น.

 

16 มกราคม 2563 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า  แม้ว่า สทนช.จะเป็นหน่วยงานกำกับนโยบายการบริหารจัดการน้ำของประเทศแต่จำเป็นต้องมีหน่วยงานระดับพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงปัญหาและข้อมูลน้ำได้โดยตรงมากกว่าการหวังพึ่งพิงข้อมูลจากหน่วยงานอื่นอย่างเดียว โดย สทนช.ได้ออกแบบการแก้ไขปัญหาน้ำในเชิงพื้นที่ (Area Based) 66 พื้นที่ภายในพื้นที่ลุ่มน้ำทั่วประเทศซึ่งมีทั้งพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก น้ำแล้งซ้ำซาก อย่างหนึ่งอย่างใดหรือรวมกัน โดยพื้นที่ลุ่มน้ำเดิมกำหนดไว้ 25 ลุ่มน้ำหลัก แต่จากการศึกษาของ สทนช. พบว่า สามารถจัดกลุ่มใหม่ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ลดเหลือเพียง 22 ลุ่มน้ำ

ทั้งยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ สทนช. กำลังออกกฎหมายรอง หรือ กฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 จำนวน 2 ฉบับ ว่าด้วยการประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำใหม่ 22 ลุ่มน้ำและการจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำใหม่ 22 คณะ ซึ่งคาดหมายว่า น่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ราวเดือนเมษายน 2563  

“ถ้ากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับประกาศได้ภายในเดือนเมษายนนี้ ก็จะล้อไปกับการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ซึ่งโครงสร้างคณะกรรมการลุ่มน้ำส่วนหนึ่งจะมีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ทำให้การจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 คณะ เกิดขึ้นได้เร็วขึ้นด้วย” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าว

โครงสร้างของคณะกรรมการลุ่มน้ำประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน หากลุ่มน้ำใดครอบคลุมหลายจังหวัดให้ผู้ว่าราชการเลือกกันเองจะให้ใครเป็นประธาน ที่เหลือจะเป็นรองประธาน ส่วนกรรมการจะประกอบด้วยตัวแทนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนราชการในจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยมีตัวแทนจาก สทนช. เป็นกรรมการและเลขานุการ

สทนช. ได้เตรียมการจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องพื้นที่ลุ่มน้ำและคณะกรรมการลุ่มน้ำล่วงหน้าตามภาคต่างๆ มาตลอดทั้งปี 2562 โดยในส่วนของกลุ่มผู้ใช้น้ำได้กำหนดรายละเอียดการจัดตั้งกลุ่ม เพื่อที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนในส่วนของผู้ใช้น้ำอย่างจริงจัง

“คณะกรรมการลุ่มน้ำจะเป็นผู้ศึกษารายละเอียดของปัญหาน้ำในพื้นที่ เสนอทางออกอย่างเป็นระบบสัมพันธ์กัน แล้วเสนอผ่านขึ้นมายัง สทนช. ส่วนกลาง เพื่อขับเคลื่อนในระดับนโยบายต่อไป คณะกรรมการลุ่มน้ำใหม่จึงมีบทบาทชัดเจนกว่าเดิม  อีกทั้งไม่มีใครรู้ปัญหาน้ำได้ดีไปกว่าคณะกรรมการลุ่มน้ำซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ และปัญหาเหล่านั้นจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังเช่นกัน เป็นมิติใหม่ในการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ทั้งจากล่างขึ้นบน และจากบนลงล่าง” ดร.สมเกียรติกล่าว

 ดร.สมเกียรติ เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า  เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำ บางลุ่มน้ำครอบคลุมมากกว่า 1 จังหวัด คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช) จึงเห็นชอบให้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัด เพื่อทำหน้าที่กรองแผนงานโครงการด้านน้ำและบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำด้วย ซึ่งเดิมทีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำจะกระจุกเฉพาะบางหน่วยงาน แต่โดยบทบาทและโครงสร้างของคณะกรรมการลุ่มน้ำจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสม รวมถึงองค์กรขนาดเล็กในพื้นที่อย่าง อปท. หรือกลุ่มผู้ใช้น้ำ

มองภาพรวมการบริหารจัดการน้ำของประเทศของ สทนช. จะเห็นถึงความพยายามที่จะบูรณาการกับทุกส่วนงานเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันคือการเข้าถึงข้อมูลน้ำโดยตรงมากขึ้น เพื่อให้เป็น “ข้อมูลชุดเดียวกัน” ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศ

พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 เพิ่งมีผลบังคับใช้ต้นปี 2562 มาจนถึงวันนี้ สทนช. กำลังเดินหน้าออกกฎหมายลูกอีกหลายฉบับ ถือได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนที่ฉับไวมาก ทั้งที่เป็นองค์กรใหม่ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับนโยบาย (Regulator) ท่ามกลางหน่วยงานปฏิบัติการ (Operator) กว่า 40 หน่วย และเผชิญปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง แทบทุกฤดูและทุกปี โดยเฉพาะปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่รู้กันว่า ภาวะโลกร้อน  

คณะกรรมการลุ่มน้ำ จึงเป็นหัวใจสำคัญของ สทนช. ในการช่วยบริหารจัดการน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น