นวัตกรรมเมืองกระตุ้นวิจัยจราจรคนรุ่นใหม่

27 ม.ค. 2563 | 03:10 น.

นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ คือเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับดิสรัปชัน ไม่ว่าเขาจะดิสรัปต์เราหรือเราจะไปดิสรัปต์ใคร

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หนึ่งในเจ้าไอเดียแห่งนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์โดยนักศึกษาสาขาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงปิ๊งไอเดียรังสรรค์ทางม้าลายแนวใหม่สุดชิกและร่วมมือกับจิตอาสา ภายใต้โครงการ “ชุมชนจิตอาสาร่วมใจพระจอมเกล้าลาดกระบัง” ประจำปีงบประมาณ 2562 สร้างสรรค์ทางม้าลาย 18 จุดทั่วสถาบัน ด้วยเป้าหมาย คือ การกระตุ้นเตือนบุคลากร เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมสถาบันตลอดจนประชาชนทั่วไป ใส่ใจวินัยในกฎจราจร และใช้ถนนอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นวัตกรรมเมืองกระตุ้นวิจัยจราจรคนรุ่นใหม่

 

นวัตกรรมความคิดนี้ เกิดจากการดัดแปลงเครื่องหมายจราจรบนถนน ที่มีการตีเส้นหรือวาดลวดลายเครื่องหมายจราจร “ทางม้าลาย” ในรูปแบบแถบสีขาว-ดำ เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ในการเพิ่มความปลอดภัยในการจราจร ทั้งในมุมผู้ขับขี่ยานพาหนะ และผู้เดินข้ามถนน แต่...ถึงกระนั้น ก็ยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทย ได้ถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนน
สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก

Pain Point ของทางม้าลายที่เป็นอยู่ คือ ความเคยชิน ประกอบกับความเป็นคนไม่มีวินัย ไม่ใส่ใจกับโอกาสทางอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ จากการเพิกเฉยต่อสัญลักษณ์ดังกล่าว 

นวัตกรรมความคิดนี้ ได้นำงานศิลปะมาผสมผสาน สร้างเป็นภาพแปลกตา และสีที่ดึงดูดความสนใจ นอกจากนี้ ยังเป็นการแต่งเติมสีสัน และปรับภูมิทัศน์ท้องถนนสถาบันฯ ให้มีความสวยงาม สู่การแปลงร่างเป็นสตรีตอาร์ตสุดเก๋สำหรับถ่ายภาพอัพลงโซเชียลมีเดียได้อีกด้วย โดยสตรีตอาร์ตแต่ละจุดจะมีลวดลายที่แตกต่างกันไป

นวัตกรรมเมืองกระตุ้นวิจัยจราจรคนรุ่นใหม่

 

อาทิ ทางม้าลายคณิตศาสตร์ ข้ามทางไปคณะวิศวะ, ทางม้าลาย เสือดาว พิกัดหอพักนักศึกษา, ทางม้าลายไข่ดาว ข้ามทางไปโรงอาหารอาคารเรียนรวมสมเด็จพระเทพฯ, ทางม้าลายจระเข้ พิกัดอาคารเรียนรวมสมเด็จพระเทพฯ, ทางม้าลายคนเดิน พิกัดสำนักหอสมุดกลาง, ทางม้าลายเกมส์นับเลข ข้ามทางไปอาคารยิมเนเซียม 1, ทางม้าลายเข็มฉีดยา ข้ามทางไปคณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น

การสร้างสรรค์นวัตกรรมสตรีตอาร์ตบนทางม้าลาย ภายในสถาบันฯ สจล. ได้รับความร่วมมือจากเยาวชนจิตอาสาและนักศึกษา สาขาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กว่า 291 คน มาร่วมกันสะบัดแปรง โดยแนวคิด หรือนวัตกรรมความคิดนี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้กับเรื่องอื่นๆ ต่อไป

หน้า 22-23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2563

นวัตกรรมเมืองกระตุ้นวิจัยจราจรคนรุ่นใหม่