แบงก์รับอานิสงส์  แก้หนี้ SMEs  โปะ!ค่าต๋งลด

17 ม.ค. 2563 | 03:10 น.

แบงก์รับอานิสงส์ ปรับหนี้เอสเอ็มอี ลดภาระกันสำรอง ชดเชยผลกระทบรายได้ หลังธปท.คุมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเผยรายได้ค่าธรรมเนียม จากสินเชื่อทั้งระบบ 12% ระบุ 3 ไตรมาสแรกปี 2562 ใน 5 แบงก์ใหญ่พบ “กสิกรไทย” นำโด่ง รองลงมา กรุงเทพ-ไทยพาณิชย์ ลุ้นผลกระทบจริงครึ่งหลังปีนี้

ธนาคารพาณิชย์ในระบบ อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบจากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่สั่งให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่องเพื่อความเป็นธรรมและลดภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) คือ 1.ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อส่วนบุคคล 2.ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย เอสเอ็มอีและส่วนบุคคล และ 3.ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต และจากนี้ไปการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ธนาคารพาณิชย์จะต้องคำนึงใน 4 เรื่องหลักคือ ต้องสะท้อนต้นทุนจากการให้บริการ ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินควร ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อนและต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน 

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า อยู่ระหว่างซักซ้อมความเข้าใจกับประกาศดังกล่าว ซึ่งในแง่ผลกระทบต่อความสามารถในการทำรายได้จากดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่น่าจะเริ่มเห็นผลประมาณครึ่งหลังปีนี้  โดยหากพิจารณาจากรายได้ค่าธรรมเนียมสินเชื่อทั้งระบบ จะมีรายได้จากการตั้งวงเงินสินเชื่อ หรือ Credited Related Fee ประมาณ 12% ขึ้นกับการขยายตัวของสินเชื่อใหม่และผลที่จะเกิดขึ้นจริงด้วย แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบทั้งจำนวน

ส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียม บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตมีสัดส่วนประมาณ 15% ของค่าธรรมเนียมทั้งหมด ซึ่งผลกระทบขึ้นอยู่กับว่าธนาคารไหนมีรายได้จากค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตมากน้อยแค่ไหน โดยหากพิจารณารายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสุทธิใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2562 นั้นพบว่า 5 ธนาคารขนาดใหญ่มีสัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมเฉลี่ยตั้งแต่ 27-20% โดยเห็นธนาคารกรุงเทพ มีรายได้ค่าธรรมเนียมเป็นอันดับ 1 เฉลี่ยประมาณ 27.4% รองลงมาธนาคารกสิกรไทย 26.2% และ ธนาคารกรุงไทย รั้งท้ายในสัดส่วน 20.3% ที่เหลือเป็นธนาคารที่มีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมไม่มาก

แบงก์รับอานิสงส์  แก้หนี้ SMEs  โปะ!ค่าต๋งลด

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสินเชื่อของ 5 ธนาคารขนาดใหญ่ใน 3ไตรมาสแรกของปี 2562 เฉลี่ยสูงสุดที่ 22-9% นำโดย กสิกรไทย 22% รองลงมาเป็น ธนาคารกรุงเทพ 14% กรุงศรีอยุธยา 12% ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ 10% และกรุงไทย 9%

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสัดส่วนค่าธรรมเนียมรายแบงก์จะพบว่า กสิกรไทย มีสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมสินเชื่อ ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรม ATM และบัตรเดบิต และค่าธรรมเนียมกองทุนเท่ากันที่ 22% รองลงมาเป็นค่าธรรมเนียมจากบัตรเครดิตและค่าธรรมเนียมอื่นๆเท่ากันที่ 13% ที่เหลือเป็นค่าธรรมเนียมระหว่างประเทศ 5% และค่าธรรมเนียมบริหารเงิน 3% ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะกระทบรายได้ 600-700 ล้านบาท

 

สำหรับธนาคารกรุงเทพ มีสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมมากสุดที่ 25% รองลงมาเป็นค่าธรรมเนียมจากกองทุนรวมและประกัน 22% ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรม/ATM/บัตรเดบิต 20% ค่าธรรมเนียมจากสินเชื่อ 14% ค่าธรรมเนียมอื่นๆ 12% และค่าธรรมเนียมการค้าระหว่างประเทศ 7% ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีรายได้จากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต/เดบิต/ATM สูงถึง 35% รองลงมาเป็น ค่าธรรมเนียมอื่นๆ 21% ค่าธรรมเนียมจากสินเชื่อรถยนต์ 18% ค่าธรรมเนียมจากสินเชื่อ 12% ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรม 10% และค่าธรรมเนียมจากประกัน 4%

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ มีสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต/เดบิต/ATM มากสุด 30% รองลงมาเป็นค่าธรรมเนียมจากกองทุนรวม 22% ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมและการค้าระหว่างประเทศ 17% ค่าธรรมเนียมอื่นๆ 12% ค่าธรรมเนียมจากสินเชื่อ 10% และค่าธรรมเนียมจากประกัน 9% และธนาคารกรุงไทยมีรายได้จากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต/เดบิต/ATM สูงถึง 50% รองลงมาเป็นค่าธรรมเนียมจากกองทุน/การค้าระหว่างประเทศ/อื่นๆ 27% ค่าธรรมเนียมจากสินเชื่อ 9% ค่าธรรมเนียมจากประกัน 8% และค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรม

 

ผลกระทบกับแบงก์ไหนมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆนั้น ส่วนคำถามว่า แบบไหนที่เป็นธรรม ธปท. ยกตัวอย่างว่า กรณีออกบัตรใหม่ เดิมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทุกกรณี แต่ตอนนี้ขอให้ไม่เรียกเก็บเวลาแบงก์ออกบัตรใหม่ เฉพาะคนไม่ได้เงินคืน ซึ่งภาพรวมผลกระทบน่าจะค่อยๆ เกิดและเห็นผลชัดปลายปี 2563”

ทั้งนี้ผลกระทบเชิงลบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยจะถูกลบล้างด้วยประกาศอีกฉบับของธปท.เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กลุ่มเอสเอ็มอี กรณีลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ
(Non-NPL) หากวิเคราะห์ฐานะและกิจการของลูกหนี้แล้วเห็นว่าลูกหนี้ สามารถปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ สามารถจัดชั้นลูกหนี้เป็นชั้นที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต(Stage 1) โดยไม่ถือว่าเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา(TDR) ซึ่งจะลดภาระการตั้งสำรองจากการปรับโครงสร้างหนี้ได้มากกว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมที่จะหายไป

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบ้บที่ 3,540 วันที่ 16-18 มกราคม 2563