โลกยังซม พิษแซงก์ชัน ฉุดศก.ดิ่ง

15 ม.ค. 2563 | 02:05 น.

โลกคลายกังวลอิหร่าน-สหรัฐฯ พักการเผชิญหน้า 3 นักเศรษฐศาสตร์ชี้ความผันผวนยังไม่จบ ห่วงมาตรการควํ่าบาตรเพิ่มดีกรี อาจลามเป็นสงครามเศรษฐกิจ ผสมโรงสงครามการค้า ซํ้าเติมปัจจัยเสี่ยงภายใน จี้รัฐเร่งใช้งบเติมหนุนชีพจรเศรษฐกิจ

 

 

ความตึงเครียดเฉพาะหน้าในตะวันออกกลางเริ่มคลี่คลายลงนับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2563 หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาส่งสัญญาณว่าจะไม่ใช้กำลังทางทหารตอบโต้ กรณีเตหะรานยิงถล่มฐานทัพอเมริกันในอิรัก แต่จะใช้มาตรการควํ่าบาตรและการปิดล้อมทาง เศรษฐกิจจัดการแทนการเปิดฉากสงคราม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การคลายกังวลทำให้ราคานํ้ามันดิบปรับลดลง โดยตลาดกลับมากังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานนํ้ามันที่ยังคงล้นตลาด และปริมาณนํ้ามันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นแทน ขณะเดียวกันดัชนีดาวโจนส์ S&P500 และ Nasdaq ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ก็ปิดทำนิวไฮ (9 ม.ค.63) ขานรับแนวโน้มที่เป็นบวกของสถานการณ์ในตะวันออก กลาง และข่าวดีเกี่ยวกับการทำข้อตกลงการค้า เฟส 1 ระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยฝ่ายจีนยืนยันว่ารองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ กำลังจะเดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อร่วมลงนามการค้าดังกล่าวในสัปดาห์หน้า

ส่วนตลาดค้าทองคำ ซึ่งมักมีราคาสูงขึ้นในภาวะที่โลกหวั่นวิตกเกี่ยวกับภัยสงคราม เมื่อความกังวลคลี่คลายลงส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลง หลังสหรัฐฯไม่มีการตอบโต้อิหร่าน และสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยังได้ลงมติจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีทรัมป์ในการใช้กำลังทหารกับอิหร่านด้วย

ตลาดยังวิตกภาวะไร้เสถียรภาพจากความขัดแย้งที่ยังฝังลึก นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้า Analytics TMB กล่าวว่า แม้สัญญาณความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ จะคลี่คลายได้เร็วกว่าคาด และการที่สหรัฐฯ เลือกใช้มาตรการควํ่าบาตรอิหร่านแทน ซึ่งระยะสั้นอาจจะไม่กระทบต่อราคานํ้ามันหรือทองคำมาก ยกเว้นถ้าสหรัฐฯ ยกระดับมาตรการคว่ำบาตรเข้มขึ้น แต่ระหว่างทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งนํ้ามันและทองคำยังคงมีความผันผวน

“ประเด็นที่ยังเป็นห่วง คือ ถ้าอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ จุดยุทธศาสตร์ของเส้นการส่งออก นํ้ามันผ่านทางนํ้า ซึ่งแม้ว่าอิหร่านจะมีกำลังผลิตนํ้ามันดิบ หรือเป็นผู้ส่งออกนํ้ามันไม่มากเพียงประมาณ 5% แต่กลับมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ถ้าสหรัฐฯ บีบหรือ
แซงก์ชันมาก อาจจะกระทบราคานํ้ามันท่ามกลางเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดี ซึ่งคนค้าขายยากเพราะต้นทุนเพิ่ม อย่างต้นปี 2562 แม้เศรษฐกิจไม่ดีแต่ยังโชคดีที่ราคานํ้ามันไม่สูง ดังนั้นความผันผวนยังไม่จบ ในแง่ครัวเรือนหรือประชาชนไม่ควรจะสร้างหนี้ก้อนใหญ่ เพราะราคาสินทรัพย์บางอย่างลดลง”

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าสถานการณ์จบแล้ว เพียงแต่ไม่น่าจะบานปลายแต่ยังมีความตึงเครียดอยู่ โดยความเสี่ยงในระยะต่อไป หลังจากสหรัฐฯ จะมีมาตรการแซงก์ชันหรือควํ่าบาตรอิหร่าน ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน ส่วนหนึ่งอาจไม่ให้อิหร่านส่งออกนํ้ามัน แต่เนื่องจากกำลังผลิตนํ้ามันของอิหร่านมีประมาณ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงอาจไม่กระทบราคานํ้ามันโลกมากนัก ยกเว้นจะมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ โดยเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

โลกยังซม  พิษแซงก์ชัน  ฉุดศก.ดิ่ง

“ส่วนตัวยังห่วงประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ น่าจะมีผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยมากกว่ากรณีสหรัฐฯ ใช้มาตรการควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจอิหร่าน แม้ว่าตอนนี้ทางคุณทรัมป์จะเจรจากับจีน นอกจากนี้ภายในประเทศเรามีปัจจัยเสี่ยง ทั้งการบริโภค การลงทุน รวมทั้งเจอปัญหารายได้ภาคเกษตรตํ่า บวกกับภัยแล้ง และนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น”

ส่วนความคาดหวังปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การลงทุนภาครัฐ หากทางการผลักดันผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ให้นำงบประมาณออกมาใช้ได้ 2. การส่งออก ถ้าสงครามการค้าเจรจากันลงตัว และ 3. การท่องเที่ยว เหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ได้

สอดคล้องกับนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า การยิงขีปนาวุธถล่มค่ายทหารสหรัฐฯ ในอิรัก หลังผู้นำระดับสูงทางทหารของตนถูกลอบสังหาร “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เพียงต้องการตอบสนองประชาชน และส่งสัญญาณถึงสหรัฐฯ ว่าอิหร่านทำไปเพื่อป้องกันตัวเอง โดยไม่ต้องการทำสงครามแต่อย่างใด” ซึ่งส่วนตัวมองว่า ทางผู้นำของอิหร่านวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้านแล้วว่า ถ้าเทียบกำลังทางทหาร กองทัพอิหร่านอยู่ในฐานะด้อยกว่าสหรัฐฯ ประกอบกับมีประเด็นภายในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งมีการคัดค้านกันอยู่และยังถูกสหรัฐฯ ควํ่าบาตรอยู่แล้ว หากไปท้าทายสหรัฐฯ ก็จะมีแต่ต้นทุนและเสียหายอย่างเดียว

ขณะที่นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่านยังไม่กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ในตอนนี้ แต่ทางกลุ่มอุตฯได้ติดตามและเฝ้าดูใกล้ชิด หากเกิดการขยายเป็นวงกว้าง ก็อาจจะมีการพูด คุยกัน

ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกรถไปยังตลาดตะวันออกกลาง คิดเป็นสัดส่วน 10% ลดลงจากอดีตที่เคยทำได้สูงสุด 26% เป็นผลมาจากความไม่สงบและปัญหาภายในที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยคือ ค่าบาทแข็ง ที่อาจจะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ย้ายฐานผลิตรถบางรุ่นไปยังโรงงานอื่นๆ

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,539 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2563