“USMCA” ใครได้-ใครเสีย?

12 ม.ค. 2563 | 07:05 น.

 

3 ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า ความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ( NAFTA) เป็นดีลของเขตการค้าเสรีที่แย่ที่สุดสำหรับสหรัฐฯเท่าที่เคยมีมา และได้ประกาศขู่ว่าจะยกเลิก NAFTA และขอให้มีการเจรจาดีลใหม่ หลังจากนั้น 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา ได้มีรื้อฟื้นการเจรจา ภายใต้ดีลใหม่ภายใต้ชื่อ “USMCA” ซึ่งในขณะนั้นภาคเอกชนทั้ง 3 ประเทศ ค่อนข้างมีความกังวลเกี่ยวกับข้อตกลงอันใหม่ภายใต้ USMCA ที่เกิดความไม่แน่นอน กระทบแผนการลงทุน การดำเนินธุรกิจที่ส่งผลให้ชะลอการเคลื่อนย้าย เงินทุน การลงทุน และแรงงานระหว่างกันทั้ง 3 ประเทศที่ทุกคนตั้งเฝ้ารอดูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

“USMCA”   ใครได้-ใครเสีย?

ในเบื้องต้นทั้ง 3 ประเทศได้มีการลงทุนตกลงร่วมกันในข้อตกลงใหม่ที่มีการเห็นชอบลงนามตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 แต่ขั้นตอนต่อไปในการลงนามเห็นชอบในสภาของแต่ละประเทศ ทำให้มีการล่าช้า โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่พรรคเดโมแครตได้ดึงเรื่องดังกล่าว โดยอ้างว่าต้องมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบก่อนที่มีการลงนามได้ แต่ในวันอังคารที่ 10 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา สภาครองเกรสของสหรัฐฯ (ที่มีเสียงข้างมากจากพรรคเดโมแครต) ได้เห็นชอบผ่านร่าง USMCA ฉบับใหม่ ที่คาดว่ามีผลประกาศใช้ภายในปี 2563

 

ภายใต้กรอบ USMCA ฉบับใหม่(NAFTA 2.0) ที่นักวิเคราะห์มองว่าเนื้อแท้แล้ว ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากNAFTA 1.0 มากนัก แต่ได้มีการอัพเดตกฎระเบียบที่เกี่ยวกับข้องมากขึ้นในเรื่องยกเลิกสิทธิบัตรยาประเภท Biologic Drugs (ยาชีวภาพ) ที่อดีตมีการคุ้มครองถึงนาน 10 ปีก่อนที่สามารถผลิตยา Generic Drug (ยาสามัญ) ซึ่งจะมีผลดีต่อแคนาดาในการเข้าถึงยาใหม่ ๆ จากสหรัฐได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อผู้บริโภคในสหรัฐฯ เองอีกด้วย เนื่องจากทุกวันนี้การปกป้องสิทธิบัตรอุตสาหกรรมยา ในสหรัฐฯทำให้ราคาค่ายาในสหรัฐฯ มีราคาเฉลี่ยที่สูงที่สุดในโลก ในขณะที่ทั้งพรรคเดโมแครต และรีพับรีกันของสหรัฐฯ พยายามที่จะหานโยบาย ช่วยเหลือลดราคายารักษาโรคให้กับประชาชนของตนเอง

“USMCA”   ใครได้-ใครเสีย?

นอกจากนี้ ข้อตกลงฉบับใหม่ ได้มีการกำหนดให้อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ผลิตใน 3 ประเทศนี้จะต้องมีการใช้ Local Content ร่วมกัน ถึง 75% (เพิ่มจาก 62.5% จาก NAFTA) อีกทั้งกำหนดให้ต้องมีการใช้เหล็ก (Steel) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ ตัวถัง รถยนต์ (Auto body) ที่ต้องมีการใช้ local Content สูงถึง 70% ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวดีต่อแคนาดาเนื่องจากแคนาดามีการส่งออกรถยนต์คิดเป็น 83% ของการผลิตทั้งหมดในประเทศ อีกทั้งแคนาดามีอุตสาหกรรมต้นน้ำ อาทิ เหล็ก อลูมิเนียม ที่เป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน ทั้งนี้ USMCA ยังได้กำหนดให้ต้องมีการตั้งมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำที่ 16 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชั่วโมง ซึ่งดีลดังกล่าวจะทำให้เม็กซิโกเสียเปรียบอย่างมากจาก USMCA ฉบับใหม่ เนื่องจากเม็กซิโกมี ค่าแรงที่ถูกว่าสหรัฐฯ และแคนาดาอย่างมาก และค่าแรงได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้โรงงานในสหรัฐฯ และแคนาดาไหลเข้าสู่เม็กซิโก

 

อีกทั้งข้อตกลงฉบับใหม่ยังให้อำนาจแรงงานในการตั้งสหภาพแรงงาน(Labour Union) เพื่อมาต่อรองกับ นายจ้างได้อีกด้วย ซึ่งในอดีตกฎหมายในเม็กฺซิโกจะกีดกันไม่ให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยง่าย ซึ่งภายใต้ USMCA กฎหมายต้องรับรอง การจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งข้อดังกล่าวได้สร้าง Disadvantage ให้กับ เม็กซิโกอย่างมากในขณะที่สหรัฐฯและแคนาดาไม่ได้ผลกระทบเนื่องจากการจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติกันอยู่แล้ว

 

ขณะที่แคนาดาจะได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมนม เนื่องจากข้อตกลงฉบับใหม่ ได้มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์นม (Diary Product) ซึ่งสินค้าจากสหรัฐฯ จะเข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตภายในประเทศ ที่ทำให้อุตสาหกรรมในประเทศแคนาดาต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ต่อการเปิดตลาดดังกล่าว รวมถึงสินค้าเนื้อไก่ ไก่งวง ไข่ไก่

 

“USMCA”   ใครได้-ใครเสีย?

สำหรับเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ณ นครโตรอนโต ต่อข้อตกลงการค้า USMCA มองว่า นับเป็นหลักชัย (Milestone) อันใหม่ของทรัมป์ ก่อนการเข้าสู่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งในปี 2563 ที่ USMCA ในภาพรวมจะดีผลเศรษฐกิจแคนาดาโดยเฉพาะอุตสาหกรรม รถยนต์ เหล็ก อลูมิเนียม ยาเวชภัณฑ์ ที่ส่งเสริมให้แคนาดาสามารถส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มสมาชิกเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี USMCA ก็ได้สร้างข้อจำกัดใหม่ๆ สำหรับในกลุ่มสมาชิก โดยสาระที่สำคัญได้แก่ ประเทศในกลุ่มสมาชิกที่มีความประสงค์ไปเปิดเจรจาการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับประเทศอื่นๆ (นอกเหนือจากประเทศในกลุ่มสมาชิก) จะต้องแจ้งให้ประเทศในกลุ่มสมาชิกทราบก่อน 3 เดือน และประเทศในกลุ่มสมาชิกสามารถฉีกสัญญาพันธะข้อตกลงของ USMCA ได้ภายใน 6 เดือน (หากไม่เห็นด้วย) ที่ข้อตกลงดังกล่าวดูเหมือนว่าจะเป็น “โซ่ตรวน” ที่ผูกแคนาดาให้อยู่กับ USMCA

 

ที่ผ่านมา แคนาดาได้ใช้นโยบายลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันแคนาดามีการส่งออกถึง 75% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยหันไปเร่งเจรจาเขตการค้าเสรีใหม่กับประเทศอื่น ๆ อาทิ สหภาพยุโรป เอเชีย หรือ รวมแม้กระทั่งจีน ซึ่งปัจจุบันจีนมีข้อพิพาทสงครามการค้ากับสหรัฐฯ (Trade War) ก็อาจส่งผลให้แคนาดาไม่ได้สามารถเดินรุกหน้าเจรจา ไม่นับรวมกรณีการจับกุมผู้บริหารบริษัท Huawei ที่แคนาดาเองก็มีข้อพิพาทกับจีน จากข้อตกลงฉบับใหม่ จะทำให้แคนาดาตกที่นั่งลำบาก ในการที่เปิดโต๊ะเจรจาการค้าเสรีกับประเทศใหม่ ในอนาคต ซึ่งจะเป็นผลเสียระยะยาวต่อแคนาดา

 

สำหรับผลต่อผู้ประกอบการไทย ข้อตกลง USMCA ที่ได้มีการพัฒนาความคืบหน้าในทางที่ดีได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจแคนาดาในเรื่องของความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชนแคนาดาซึ่งในช่วงปีผ่านมาปัจจัย USMCA ได้ทำให้นักธุรกิจกังวลต่อท่าทีของข้อตกลงฉบับใหม่ ที่ส่งผลให้บริษัทส่วนใหญ่ ชะลอการลงทุนและการจ้างงานที่ส่งผลต่อ เศรษฐกิจแคนาดา แต่ทุกวันนี้ได้มีความชัดเจนมากขึ้นของเศรษฐกิจที่จะส่งผลดีต่อจิตวิทยาการลงทุนการจับจ่ายของผู้บริโภค และอาจส่งผลให้กระตุ้นให้มีการนำเข้า และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2563