เตือน พ่อแม่อย่าเลี้ยงลูกด้วย "สมาร์ทโฟน"

11 ม.ค. 2563 | 10:21 น.

กรมอนามัย ชี้ เลี้ยงลูกด้วยสมาร์ทโฟน พัฒนาการช้า-สมาธิสั้น หนุนทำกิจกรรมขยับร่างกาย กระตุ้นการเจริญเติบโต

เตือน พ่อแม่อย่าเลี้ยงลูกด้วย "สมาร์ทโฟน"

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การเล่นของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษามีความสำคัญและมีคุณค่า เพราะการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ที่เหมาะสมคือการเรียนรู้ผ่านการเล่น และการเรียนรู้      อย่างมีความสุข การเล่นที่ดีจะส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ปัญญา อารมณ์ สังคม มีวินัย     มีการวิเคราะห์เกิดความคิดสร้างสรรค์ รียนรู้การปรับตัว และลดอุบัติเหตุ การเล่นยังมีบทบาทในการป้องกันและรักษาปัญหาในด้านพัฒนาการ อารมณ์ความสัมพันธ์กับผู้อื่น อีกทั้งการเล่นของเด็กยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีการขยับร่างกาย เพราะปัจจุบันพ่อแม่มักนิยมใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เป็นตัวช่วยในการเลี้ยงลูก เพื่อหวังจะให้ลูกอยู่นิ่งๆ และมีความเชื่อว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยเรื่องพัฒนาการของเด็กได้ทั้งที่จริงแล้ว อุปกรณ์เหล่านี้กลับทำให้พัฒนาการของเด็กลดลง ทั้งด้านภาษา สมาธิ และสังคม 

นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี เป็นวัยที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย หรือมีกิจกรรมทางกาย ทั้งกับพ่อแม่ เพื่อน หรือด้วยตนเอง

เตือน พ่อแม่อย่าเลี้ยงลูกด้วย "สมาร์ทโฟน"

ดังนั้น กลุ่มวัยทารก อายุ 0 - 1 ปี พ่อแม่ควรเน้นให้เด็กมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายเช่น การนอนคว่ำชันคอ เอื้อมหยิบจับลูกบอลหรือของเล่นคลาน นั่ง ยืน และเล่นกับพ่อแม่ ในช่วงเวลาที่เด็กไม่ได้นอนหลับ สำหรับวัย 1 - 5 ปี ควรให้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวัน เน้นทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น การเดิน วิ่ง เขย่งกระโดด ทรงตัว ปีนป่าย ปั่นจักรยานสามล้อ ปั้นดิน ขีดเขียน ต่อบล็อก เล่นบทบาทสมมติ หรือช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน โดยพ่อแม่ควรสนับสนุนให้เด็กได้เลือกเล่นตามความชอบ เด็กก็จะเกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนั้นต้องคำนึงและดูแลความปลอดภัยของลูกในขณะเล่นด้วย   

สำหรับเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น อายุ 6-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน โดยระดับปานกลาง เช่น ปั่นจักรยาน เล่นกีฬา ส่วนแบบหนัก เช่น วิ่งเร็ว กระโดดสูง ว่ายน้ำเร็ว การละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ หรือวิ่งเล่นอิสระ

 "ทั้งนี้ การเล่นและส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กทำได้ไม่ยาก สามารถคิดรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะกับเด็กและครอบครัว ไม่จำเป็นต้องมีหรือซื้อของเล่นราคาแพง ซึ่งอาจให้เด็กได้เล่นบริเวณทั้งในบ้าน และชุมชน อาทิ สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา หรือพาออกไปท่องเที่ยว สิ่งสำคัญที่สุดคือการใช้เวลา     ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างมีคุณภาพภายในครอบครัว อันจะทำให้เด็กเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ มีการเรียนรู้เข้าใจตนเองและปรับตัวเข้ากับคน และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ได้  อย่างมีสุขต่อไป”