คำตัดสินคดีประวัติศาสตร์ 'อู่ตะเภา 2.9 แสนล้าน'

10 ม.ค. 2563 | 10:30 น.

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3539 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 12-15 ม.ค.63 โดย... พรานบุญ

 

คำตัดสินคดีประวัติศาสตร์

'อู่ตะเภา 2.9 แสนล้าน'

 

            เงียบเชียบ ตะลึง อ้าปากค้างกันทั้งเมืองแบบตะลึงตึงๆ เมื่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.381/2562 ระหว่างบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่มซีพี) กับพวกรวม 5 คนที่ฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งก็คือกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 และสั่งคืนสิทธิ์ให้บริษัท ธนโฮลดิ้ง เข้าประมูลสนามบินอู่ตะเภาฯ วงเงิน 2.9 แสนล้านบาทได้

            นังบ่าง อีเห็น เก้ง กวาง นังชะนี ที่ปกติปากดี จึงเงียบเป็นเป่าสาก ไม่มีหือ ไม่มีอือ

            องค์คณะของศาลฯ 5 ท่านที่พิจารณาคดีประวัติศาสตร์นี้เป็นใครบ้าง พรานฯ ไล่เลียงให้ดูกัน บุญอนันต์ วรรณพาณิชย์ ซึ่งเพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เป็นตุลาการเจ้าของสำนวน บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เป็นตุลาการหัวหน้าคณะ จิรศักดิ์ จิรวดี ตุลาการศาลปกครองสูงสุด สิริกาญจน์ พานพิทักษ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด สุกัญญา นาชัยเวียง ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ทั้ง 5 คน อย่างน้อยมี 2 คน ที่เคยตัดสินว่ามาประมูลช้าถูกตัดสิทธิ์

            ศาลฯ วิเคราะห์ว่า จากหลักฐานและข้อกฎหมายพิจารณาว่าการยื่นซองเทคนิคและซองราคาช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ คือ 15.00 น. ไม่เป็นสาระสำคัญที่เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ประมูลรายอื่น และถือว่าไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ประมูลกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขั้นตอนการประมูลได้กำหนดว่า ให้ยึดระยะเวลาของการยื่นเอกสาร ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลได้มาแสดงตัวและยื่นเอกสารตามเวลา

            รวมทั้งได้พิจารณาถึงเอกสารที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ยื่นถึงสำนักงานอีอีซี ซึ่งได้ให้ความเห็นว่า มีการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว

            ศาลฯ พิเคราะห์ว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงยังมีสิทธิ์ที่จะพิจารณาข้อเสนอของเอกชนทั้ง 3 ราย เพื่อคัดเลือกเอกชนที่มีข้อเสนอและผลตอบแทนที่ดีที่สุดต่อรัฐ

 

            การประมูลเค้กก้อนโตในโครงการนี้จึงต้องกลับมาเริ่มเปิดซองแข่งขันกันใหม่ แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางกลุ่มบีบีเอส (บีทีเอส) ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง “บีทีเอส-ซิโน ไทย-บางกอกแอร์เวย์ส” จะเป็นผู้เสนอราคาจ่ายผลตอบแทนให้กับรัฐสูงสุดคือ 3.05 แสนล้านบาท แลกกับสัมปทาน 50 ปี

            ระทึกในฤทัยอย่างยิ่งว่า เมื่อ พล.ร.อ.โสภณ วัฒนมงคล รองผู้บัญชาการทหารเรือ และประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ พล...เกริกไชย วจนาภรณ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ไปนำซองที่ 6 และซองที่ 9 ซึ่งเป็นข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจ และ ข้อเสนอด้านราคาของกลุ่มธนโฮลดิ้งที่ตอนนี้เก็บไว้ที่ห้อง Navy Club ราคาที่กลุ่มซีพีเสนอจ่ายผลตอบแทนให้รัฐจะสูงกว่า 3.05 แสนล้านบาทแค่ไหน

            ระทึกในฤทัยอย่างยิ่งว่า เมื่อศาลตัดสินออกมาเช่นนี้ กลุ่ม “บีทีเอส-ซิโนไทย-บางกอกแอร์เวย์ส” จะทำอย่างไร

            พรานฯว่า ศึกการชิงเค้กก้อนโตของเจ้าสัวรายใหญ่ในเมืองไทย ไม่มีใครยอมใครแน่นอน เพราะนี่คือโครงการที่บ่งบอกถึงอนาคตของประเทศ อนาคตของธุรกิจ อนาคตของผู้ที่เกี่ยวข้อง ใครได้ไป แม้ระยะต้นจะแบกดอกเบี้ย แต่ระยะยาวรับแต่เงิน

            คดีนี้พรานฯ มิอาจบอกได้มากกว่านี้ แต่ขอบอกว่านี่คือประวัติศาสตร์การประมูลของไทยอีกครั้งหนึ่ง

            คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการได้ดำเนินการเปิดและปิดรับซองข้อเสนอของเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ กำหนดเวลาเปิดรับซองข้อเสนอเวลา 09.00 น. และปิดรับซองข้อเสนอในเวลา 15.00 น. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอรายหนึ่งในจำนวนดังกล่าวได้นำซองข้อเสนอไม่ปิดผนึกมายังห้องรับรอง

            ต่อมาเวลา 13.52 น. ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้นำซองข้อเสนออีกจำนวน 8 กล่อง มายังห้องรับรอง คณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสารข้อเสนอซึ่งได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ (เฉพาะ) ที่ 43/2561 ลว. 16 พ.ย. 2561 ให้ทำหน้าที่รับตรวจนับข้อเสนอ ทำบัญชีรายชื่อ ได้ตรวจสอบหมายเลขซองข้อเสนอที่ระบุบนกล่องข้อเสนอทั้งหมดของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าที่มาถึงห้องรับรองแล้ว

            พบว่าผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีความประสงค์ที่จะยื่นข้อเสนอทั้งหมด11 กล่อง แต่ข้อเสนอมีเพียง 9 กล่องเท่านั้นที่มาถึงห้องรับรอง ขาดข้อเสนอ 2 กล่อง ได้แก่ กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 และต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 15.07 น. ปรากฏว่า มีรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 1 ฒค 9367 กรุงเทพมหานคร เข้ามายังกองบัญชาการกองทัพเรือ โดยรถดังกล่าวได้นำกล่องข้อเสนอที่ขาดอยู่ 2 กล่อง มายังห้องรับรองในเวลาประมาณ 15.09 น.

 

            โดยมีภาพถ่ายแสดงเหตุการณ์ข้างต้นพร้อมระบุเวลาชัดแจ้ง รายละเอียดตามเอกสารดังกล่าว แสดงว่าซองข้อเสนอ 2 กล่อง ได้แก่ กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 มาถึงยังสถานที่รับซองข้อเสนอภายหลังเวลา 15.00น. และผู้ฟ้องคดีทั้งห้ายอมรับตามคำแถลง ว่าเอกสารข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ไปถึงห้องรับรองชาวต่างประเทศ กองบัญชาการกองทัพเรือ ในเวลา 15.08 น. เหตุที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าส่งมอบเอกสารดังกล่าวล่าช้า เนื่องจากในวันดังกล่าวการจราจรติดขัด

            ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงรับฟังได้ว่าเอกสารซองข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า จำนวน 2 กล่อง คือ กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ไปถึงยังสถานที่รับซองข้อเสนอภายหลังกำหนดระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในข้อ 31 (1) ของเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมมีหน้าที่ปฏิเสธไม่รับไว้เพื่อพิจารณาในขั้นตอนต่อไปตามที่ระบุไว้ในข้อ 31 (3) โดยไม่สามารถพิจารณายกเว้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเป็นกรณีพิเศษได้

            มิเช่นนั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเอกชนรายใดรายหนึ่งและทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

            การที่กล่องข้อเสนอทั้ง 2 กล่อง ถูกนำเข้ามารวมอยู่กับกล่องข้อเสนออีก 9 กล่อง ที่มาถึงห้องรับรองอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนเวลา 15.00 น. และถูกนำไปเก็บรวมไว้ที่ห้อง Navy Club กองบัญชาการกองทัพเรือ จึงไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของเอกสารการคัดเลือกเอกชน เอกสารหลัก เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ลว. 16 พ.ย. 2561 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

            ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีในการประชุม ครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2562 ได้รับทราบผลการชี้แจงความก้าวหน้าของคณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสารข้อเสนอแล้วมีมติไม่รับเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าในส่วนของซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 กับซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 เนื่องจากได้ยื่นภายหลัง ตามที่กำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชน ข้อ 31 (1) และ (3) มติดังกล่าวจึงสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การคัดเลือกและชอบด้วยกฎหมายแล้ว

            ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ว่า การให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ายื่นซองข้อเสนอให้ครบถ้วนย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐ มากกว่าการยึดถือเวลาเพียง 9 นาที ซึ่งอาจมีบุคคลใดเห็นว่าเป็นข้อบกพร่องของผู้ฟ้องคดีอยู่บ้าง แต่การเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดียื่นซองข้อเสนอเพื่อแข่งขันกับผู้ยื่นข้อเสนออีก 2 ราย อย่างครบถ้วนและเป็นธรรมนั้น จะเป็นการเปิดกว้างให้คณะกรรมการได้ใช้ดุลพินิจตัดสินใจในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับรัฐมากกว่า

          จึงนำมาซึ่งคำตัดสินที่เป็นประวัติศาสตร์ คืนสิทธิ์ให้กลุ่มซีพีเข้าร่วมประมูลเมืองการบิน 2.9 แสนล้านบาทได้!