แบงก์แนะ  ฝากประจำ หนีดอกเบี้ยขาลง

13 ม.ค. 2563 | 03:30 น.

แบงก์ชี้ เทรนด์ดอกเบี้ยเงินฝาก “ขาลง” แนะเงินเย็นรอ “จังหวะ” ลงทุนในทองคำ-พันธบัตร เกรด AAA แนะคนที่ต้องการสภาพคล่อง เลือกออมบัญชีฝากประจำพิเศษ ส่วนผู้เริ่มเก็บตังค์ ลงบัญชีฝากประจำปลอดภาษี

อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับตํ่านานๆ ไม่เพียงกระตุ้นให้เกิดภาวะการวิ่งหาผลตอบแทน โดยประเมินความเสี่ยงตํ่ากว่าที่ควร หรือ Search for yield รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดภาวะ Hunt for return ก่อให้เกิดแชร์่ลูกโซ่ต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงล่อใจ และสุดท้ายทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชนทั่วไป

ขณะที่อัตราผลตอบแทนในตลาดเงินมีทิศทางปรับลดลง โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ประกอบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย (บอนด์ ยีลด์) ที่ปรับลดลง ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ส่งให้บอนด์ยีลด์ไทยอายุ 10 ปีปรับลดจาก 1.47% เมื่อสิ้นปี 2562 เหลือ 1.35% ต่อปี วันที่ 6 มกราคม 2563 ส่วนอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ย 5 ธนาคารใหญ่ของไทย อยู่ในระดับตํ่า 0.25-1.50% ต่อปี และเงินฝากประจำ 6 เดือนอยู่ที่ 0.25-1.65% และมีแนวโน้มจะปรับลดลงได้อีก หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ระดับ 1.25% เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 โดยเห็นได้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (...)ไม่รับฝากบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีก่อน แต่ยังจ่ายดอกเบี้ยตามข้อตกลงเดิมจนครบกำหนด

แบงก์แนะ  ฝากประจำ หนีดอกเบี้ยขาลง

สำหรับผลิตภัณฑ์เงินฝากในตลาด เช่น ธนาคารออมสิน บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 4 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 1.10% ต่อปี วงเงินฝากขั้นตํ่า 10,000 บาท และประเภท 7 เดือนจ่ายดอกเบี้ย 1.20% โดยเปิดรับฝากตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม-31 มีนาคม 2563 บัญชีปลอดภาษีของธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย (ธย.) จ่ายดอกเบี้ย 2.60-2.85% ต่อปี สามารถออมเงินสมํ่าเสมอเท่าๆ กันทุกเดือน มีให้เลือก 2 แบบคือ 24 เดือน ฝากตั้งแต่ 1,000 -25,000 บาท เมื่อถึงกำหนดต้องไม่เกิน 6 แสนบาท หรือ 36 เดือน เงินฝากตั้งแต่ 1,000 - 16,500 บาท โดยฝากรายเดือนเดือนละเท่าๆ กัน เมื่อถึงกำหนดต้องไม่เกิน 6 แสนบาท ส่วนใหญ่ทุกธนาคารในระบบจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่ 2.50% ต่อปี และบัญชีออมทรัพย์ ULTRA SAVING ของธนาคารธนชาต จ่ายดอกเบี้ยสูงสุด 1.5% ต่อปี วงเงินฝากตั้งแต่ 2 หมื่นบาทแต่ไม่ถึง 50 ล้านบาท หรือบัญชี E-SAVINGs จ่ายดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี 

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ องกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทยลดลงตํ่าสุดเป็นประวัติกาลนั้น เป็นการลดต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก แต่การที่บอนด์ยีลด์ลดลงจะสวนทางกับราคาพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น เพราะความต้องการซื้อมีมากขึ้นจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของสถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลก ทำให้เงินลงทุนไหลออกจากตลาดหุ้นเข้าสู่พันธบัตร ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยแทน

แบงก์แนะ  ฝากประจำ หนีดอกเบี้ยขาลง

อริยา ติรณะประกิจ

 

 

 “บอนด์ยีลด์ไทยปรับลดมากกว่าประเทศอื่น เพราะรับผลกระทบจากเศรษฐกิจนอกประเทศ สงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนและความไม่แน่นอนของการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศเริ่มชะลอตัวจากการส่งออกที่ลดลงและการท่องเที่ยวที่แม้จะดี แต่ถูกกดดันด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปี 2563 แนวโน้มดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นขึ้นกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ซึ่งมีปริมาณไม่สูงนัก ดังนั้นการแข่งขันระดมเงินฝากจึงน้อย ในแง่ของคนฝากเงินปีนี้ จะเป็นการรอจังหวะในการเข้าสินทรัพย์เสี่ยง เพราะลำพังฝากเงินอย่างเดียว ผลตอบแทนไม่น่าจะเพียงพอ จึงแนะนำทยอยลงทุนในกองทุนผสม ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะจัดสรรการลงทุนที่เหมาะกับศักยภาพ เช่น ทองคำ พันธบัตรและหุ้น

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่กล่าวว่า การมีเงินฝากน้อยจะฝากระยะสั้นหรือยาว แทบไม่แตกต่างกัน เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับตํ่ามาก ขณะที่บริษัทเอกชนต่างๆ ระดมออกหุ้นกู้ ซึ่งหุ้นกู้ประเภท AAA, AA ช่วงนี้อาจจะเห็นอัตราผลตอบแทน 2-3% ซึ่งผู้ที่มีเงินเย็นมากก็เป็นโอกาสจะออมผ่านหุ้นกู้เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

 

เราอยู่ในยุคดอกเบี้ยตํ่า ที่ไม่เคยมีมาก่อน บุคคลจำเป็นต้องวางแผนการเงินให้ดี เพราะรอบนี้เศรษฐกิจจะกระทบคนทำงานหรือชนชั้นล่าง ซึ่งต่างกับยุคต้มยำกุ้งที่จะเป็นคนชั้นบน หลักๆจึงควรจะมีเงินออมในหุ้นกู้ หรือพันธบัตรรัฐบาล และถ้าต้องการสภาพคล่องก็เก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์พิเศษ ซึ่งตลาดประเมินดอกเบี้ยแนวโน้มขาลง หรืออาจเห็นดอกเบี้ยนโยบายไทยลดเหลือ 1.00% เพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าลง

ดังนั้นผู้มีเงินเย็น อาจเลือกลงทุนในพันธบัตรหรือตราสาร อื่นที่มีอันดับความเสี่ยงดี ส่วนผู้ที่มีเงินเก็บที่ไม่เป็นเงินเย็น อาจเลือกฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์พิเศษเป็นทางออกที่ดีสุด ซึ่งหลายธนาคารมีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษอยู่แล้ว โดยจ่ายดอกเบี้ย 1.5-1.6% ส่วนผู้มีเงินน้อยและเริ่มเก็บเงินจริงๆ จะมีบัญชีเงินฝาก ประจำปลอดภาษีที่สามารถเลือกฝากกับทุกธนาคาร โดยกำหนดเปิดบัญชีคนละ 1 บัญชีหรือ 1 ธนาคาร ฝากตั้งแต่ 10,000-25,000 บาทต่อเดือน ดอกเบี้ย 2.3-2.5% ต่อปีไม่เสียภาษีด้วย แต่มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับลงในอนาคต

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,539 วันที่ 12-15 มกราคม 2563