ภารกิจ‘อีอีซี2020’ ปั้นรายได้ชุมชน 1.2 แสนล้าน

15 ม.ค. 2563 | 04:20 น.

 

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามีความคืบหน้าเป็นลำดับ แม้ว่าบางโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอาจจะสะดุดไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก็ตาม เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา หรือ MRO โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ที่ยังไม่สามารถลงนามร่วมลงทุนกับเอกชนได้ก็ตาม

 

ทั้งนี้ ในปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ยังจะต้องผลักดันโครงการดังกล่าว ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และยังต้องขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การขยายการลงทุนสู่พื้นที่และชุมชน เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่อีอีซี

 

เน้นลงพื้นที่พัฒนาชุมชน

 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ในปี 2563 ภารกิจที่อีอีซี จะเข้าไปดำเนินงานจะเน้นการลงพื้นที่และพัฒนาชุมชน ได้แก่ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยการสร้างรายได้ให้ถึงชุมชน จากการขยายการท่องเที่ยวชุมชน ที่จะยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวของพื้นที่เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน และขยายการท่องเที่ยวพื้นที่รอง เชื่อมโยงทรัพยากรในพื้นที่ มีเป้าหมายสร้างรายได้ให้ชุมชนปีละ 1.2 แสนล้านบาทภายใน 3 ปี และสร้างโครงการท่องเที่ยวระดับชุมชน เช่น บ้านตะพง-ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ออกแบบบรรจุภัณฑ์ (TCDC) ท่องเที่ยวทางเรือ หรือ พัทยา on Pier เป็นต้น

 

ภารกิจ‘อีอีซี2020’  ปั้นรายได้ชุมชน 1.2 แสนล้าน

 

รวมถึงการยกระดับเอสเอ็มอี สู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่งเสริม ไปตลาดโลกด้วย E-Commerce ด้วยการนำเอสเอ็มอีเข้าห่วงโซ่อุปทาน โดยการเชื่อมเอสเอ็มอีเป็นผู้จัดหาสินค้าและบริการหรือ Suppliers ให้นักลงทุนเทคโนโลยีเป้าหมาย และจัดพื้นที่เฉพาะเอสเอ็มอีทั้งในนิคมอุตสาหกรรม และกำหนดเขตส่งเสริมแบบ Cluster ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และการให้สิทธิประโยชน์เอสเอ็มอี โดยจะเสนอสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรม และแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านกฎระเบียบโดยใช้กลไก ...อีอีซี และการผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ตั้งเป็นโครงการหลักของอีอีซี ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ได้เตรียมพื้นที่ 23 ไร่ ที่ .มาบข่า .นิคมพัฒนา .ระยอง รองรับไว้แล้ว และมีเป้าหมายที่จะลดผู้มีรายได้น้อยหรือตํ่ากว่า 1 แสนบาทต่อปี ที่มีจำนวนราว 3.5 แสนคน หรือประมาณ 14 % ให้หมดไปใน 3 ปี เบื้องต้นจัดสรรงบแล้วราว 50 ล้านบาท

 

 

 

สร้างงานคุณภาพ4.7แสนตำแหน่ง

 

ขณะที่การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน จะเน้นด้านสาธารณสุข ที่รัฐจะเข้าไปร่วมลงทุนสถานพยาบาลกับเอกชนในพื้นที่ที่มีความพร้อมให้สามารถหารายได้พึ่งพาตนเอง เป็นต้น ส่วนด้านการศึกษามีเป้าหมาย สร้างงานคุณภาพ 4.7 แสนตำแหน่ง จากการพัฒนาทักษะบุคลากร ปรับเข้าสู่ Demand Driven เอกชนร่วมจ่าย : ในรูปแบบของ EEC Model คือ แบบเรียนฟรี มีงานทำ และแบบจ่ายน้อย มีโอกาสทำงาน ภายใต้การพัฒนาบุคลากรเร่งด่วน 20,000 คน จำนวน 120 หลักสูตร ภายใน 1 ปี และ 25 หลักสูตร 3,000 คน พร้อมทำงานทันที สร้างบัณฑิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชนเป้าหมาย 120 คน เปิดรับรุ่นแรก 30 คน จัดสรรงบแล้วราว 10 ล้านบาท พร้อมทำงานทันที และผลิตอาชีวะมาตรฐานอินเตอร์ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ เป็นเรื่องของการใช้เครือข่ายกลุ่มสตรีของกรมพัฒนาชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาผังเมืองและสิ่งแวดล้อม มาเป็นกระบอกเสียงของอีอีซี ช่วยขยายความเข้าใจ และรวบรวมข้อมูล ปัญหาและข้อเสนอแนะ ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการจัดสรรงบดำเนินงานแล้วราว 5 ล้านบาท

 

เร่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

อีกทั้งการดำเนินการตามแผนสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่ Circular Economy โดยเบื้องต้นจังหวัดฉะเชิงเทรา มีแผนดำเนินงานจัดตั้งศูนย์จัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสานร่วมทุนกับเอกชน 1,073.8 ล้านบาท ศูนย์จัดการขยะมูลฝอย เงินลงทุน 145.8 ล้านบาท ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อเขตบริการสุขภาพที่ 6 เงินลงทุน 357 ล้านบาท ส่วนจังหวัดชลบุรี มีแผนจัดตั้งศูนย์จัดการขยะมูลฝอยเมืองพัทยาร่วมทุนกับเอกชน เงินลทุน 3,000 ล้านบาท โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดนํ้าเสียเมืองพัทยา เงินลงทุน 1,094 ล้านบาท และศูนย์จัดการขยะมูลฝอยเกาะล้าน ชลบุรี เอกชนลงทุน 200 ล้านบาท และจังหวัดระยองมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบ บริหารจัดการนํ้าเสียเขตควบคุมมลพิษ เงินลงทุน 1,400 ล้านบาท โครงการระบบรวบรวมและบำบัดนํ้าเสียรวมอ.ปลวกแดง เงินลงทุน 960 ล้านบาท และโครงการรองรับสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมและคืนธรรมชาติในอนาคต 6 โครงการอีก 200 ล้านบาท เป็นต้น

 

รวมทั้งมีแผนลงทุนก่อสร้างโรงกำจัดขยะเพิ่มอีก 6 แห่ง นำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ 120 เมกะวัตต์ สามารถกำจัดขยะรายวันและขยะสะสมได้ราว 6,024 ตันต่อวัน ใช้งบลงทุนราว 2.82 หมื่นล้านบาท เปิดดำเนินการได้ในปี 2565

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,539 วันที่ 12-15 มกราคม 2563