ผลกระทบสงคราม สหรัฐ VS อิหร่าน

11 ม.ค. 2563 | 03:15 น.

 

คอลัมน์ รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,539 วันที่ 12-15 มกราคม 2563

 

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ข่าวที่คนทั่วโลกต่างพูดถึงและให้ความสนใจมากที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องการที่สหรัฐอเมริกามีปฏิบัติการสังหารนายพลคนสำคัญของประเทศอิหร่าน ด้วยเหตุผลที่ว่าบุคคลดังกล่าวอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายสำคัญๆ หลายครั้ง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการกำจัดนายพลท่านนี้ถือเป็นการกำจัดเสี่ยนหนามคนสำคัญของสหรัฐฯ และอาจถือได้ว่า นี่เป็นการเปิดฉากความขัดแย้งระดับโลกที่ทุกประเทศต่างต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะแน่นอนว่าปฏิบัติการครั้งนี้สร้างความวิตกกังวลว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสันติภาพของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศต่างออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าว ในการที่จะตอบโต้ด้วยกำลังทหารกับฝ่ายตรงข้าม ทางอิหร่านได้มีการชักธงสีเลือดขึ้น ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ธงดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อแก้แค้นแทนบุคคลที่ถูกฆ่า การตัดสินใจของสหรัฐฯในการเลือกที่จะปฏิบัติการดังกล่าวหากจะมองในมุมทางเศรษฐกิจ ต้องไม่ลืมว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ของโลก

การสร้างความวิตกกังวลต่อปัญหาความไม่มั่นคงของประเทศ หากโลกอยู่ในภาวะสงครามย่อมมีผลทางจิตวิทยาต่อผู้นำในแต่ละประเทศที่จะพิจารณาเพิ่มอาวุธและกำลังทหาร ซึ่งแน่นอนว่าสถานการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯเอง หากดูจากแถลงการณ์ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะเห็นได้ว่าทรัมป์ประกาศอวดอาวุธชนิดใหม่ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงที่พร้อมจะทำสงครามกับอิหร่าน หากอิหร่านเปิดฉากโจมตีสหรัฐฯ

สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือทำไมสหรัฐฯ เลือกที่จะเปิด ฉากกับอิหร่าน ทั้งที่จริงๆ แล้ว กลุ่มก่อการร้ายที่เป็นคู่พิพาทของ สหรัฐฯ มีอยู่ในหลายประเทศในตะวันออกกลาง หากจะพิจารณาเรื่องนี้จากผลที่อาจจะได้รับในการปฏิบัติการครั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าการโจมตีประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์อย่างอิหร่าน จะมีแรงสนับสนุนในการตอบโต้กลับไปยังสหรัฐฯ น้อยกว่าการเลือกที่จะโจมตีประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี ซึ่งจะมีแรงสนับสนุนจากประเทศมุสลิมมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ แถลงว่าทางสหรัฐฯเตรียมการที่จะเปิดฉากโจมตี 52​ จุด หากอิหร่านตอบโต้ปฏิบัติการของสหรัฐฯ โดยรวม ถึงการโจมตีสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมด้วย การแถลงดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความได้ว่า อาจมีการโจมตีสถานที่สำคัญที่มีความเกี่ยวพันกับศาสนาด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรื่องทางวัฒนธรรมโดยส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อในทางศาสนา

 

 

ผลกระทบสงคราม  สหรัฐ VS อิหร่าน


 

 

ดังนั้น หากสหรัฐอเมริกามีการเปิดฉากโจมตีสถานที่ทางวัฒนธรรมจริงตามที่กล่าว และสถานที่นั้นมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องศาสนา ความรุนแรงของสงครามนี้มีความเป็นไปได้สูงว่าจะขยายตัวกลายเป็นสงครามที่จะมีกลุ่มประเทศมุสลิมที่มีสมาชิกอยู่ประมาณ 77 เข้าร่วมวงในสงครามครั้งนี้ด้วย

ต้องไม่ลืมว่าในสายตาของกลุ่มประเทศมุสลิมแล้ว การปกครองและการบริหารประเทศของสหรัฐอเมริกาอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มอำนาจและกลุ่มทุนที่เป็นชาวยิว ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ถือเป็นกลุ่มที่มีความขัดแย้งกับกลุ่มมุสลิมมาอย่างยาวนาน หากเป็นเช่นนั้นจริง ขนาดของสงครามก็มีโอกาสที่จะขยายวงกว้างขึ้น

แต่หากจะมองจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำในกลุ่มประเทศมุสลิม ถ้าสหรัฐฯ ไม่เดินหมากผิดไปโจมตีพื้นที่อ่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ก็มีความเป็นได้เช่นกันที่สงครามครั้งนี้จะไม่ขยายวงจนมีประเทศมุสลิมอื่นๆ ลงมาร่วมวงในสงครามครั้งนี้ได้ แต่ด้วยบุคลิกของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่มักจะทำอะไรแบบฉับพลัน การที่จะทายว่าเกมนี้จะเดินต่อไปอย่างไรคงไม่ใช่เรื่องง่าย

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นจากปฏิบัติการครั้งนี้ ก่อให้เกิดคำถามขึ้นหลายคำถามว่า การดำเนินการแบบเปิดเผยของสหรัฐฯ โดยแจ้งให้ประเทศอื่นทราบ กับการปฏิบัติการลับๆ ของกลุ่มก่อการร้ายแตกต่างกันอย่างไร เพราะดูเหมือนเรื่อง นี้จะเป็นเพียงเส้นบางๆ ที่จะแยก 2​ พฤติกรรมนี้ออกจากกันเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีคำถามต่อมาอีกว่าความชอบธรรมในการดำเนินการนอกอำนาจอธิปไตยของรัฐตนเองเกิดขึ้นได้อย่างไร เนื่องจากปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการกระทำในประเทศอิรัก สิ่งที่สหรัฐฯ ทำลงไปไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ? ในมุมของกระบวนการยุติธรรม การใช้วิธีการดำเนินการกำจัดบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นบุคคลอันตรายด้วยวิธีแบบนี้เป็นวิธีที่รับได้ในทางระหว่างประเทศ? การดำเนินการแบบนี้ต่างอะไรกับการตั้งศาลเตี้ยที่คิดจะกำจัดศัตรู?

 

ดูเหมือนว่านับวันภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ จะมีแง่ลบลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า ที่ทำกับจีน โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ทำ เช่น การตั้งกำแพงภาษีศุลกากรจะขัดกับหลักเกณฑ์พื้นฐานขององค์การการค้าโลก หรือในเรื่องนี้ที่เป็นการดำเนินการที่ถือเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น และไม่เคารพต่อกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศอย่างที่ควรจะเป็น

บทสรุปของเรื่องนี้ถ้ามองในมุมธุรกิจ การมีสงครามดูจะเป็นประโยชน์กับฝั่งสหรัฐฯ อยู่ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม จะเป็นประโยชน์เพียงระยะสั้นๆ แต่การปฏิบัติการในลักษณะแบบนี้ทำลายความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกาลงอย่างมาก ดูเหมือนว่าคำทำนายที่ว่าต่อไปประเทศซีกโลกตะวันออกจะเจริญและพัฒนามากกว่าซีกโลกตะวันตก จะใกล้ความจริงขึ้นมาทุกๆ ทีแล้ว

เรื่องนี้จะมีทิศทางอย่างไรต่อไป รัฐบาลไทยก็คงต้องเตรียมรับมือให้ดี เพราะจากที่เศรษฐกิจในปัจจุบันที่แย่อยู่แล้ว ความไม่มีเสถียรภาพของโลกอันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ น่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้