ตื่นแล้ว... แต่ช้าไปมั้ย

09 ม.ค. 2563 | 12:34 น.

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3538 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 9-11 ม.ค.63 โดย... พรานบุญ

 

ตื่นแล้ว...

แต่ช้าไปมั้ย

 

     ในที่สุดแบงก์ชาติ โดยผู้ว่าการ วิรไท สันติประภพ ก็ออกอาการเข้ม ด้วยการสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เพื่อลดภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)

     3 เรื่องหลักๆ ที่แบงก์ชาติสั่งให้ปรับปรุงก็คือ 1.ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment) ในสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีการผ่อนชำระเป็นงวด เดิมแบงก์จะคิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน แต่เกณฑ์ใหม่ให้คิดค่าปรับจากยอดเงินต้นคงเหลือเท่านั้น และยังให้กำหนดช่วงเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอนด้วย

     2.ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SMEs และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีการผ่อนชำระเป็นงวด เดิมคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นคงเหลือ แต่เกณฑ์ใหม่ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น

 

     3.ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร เดิมไม่มีการคืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น แต่เกณฑ์ใหม่ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตร โดยไม่ต้องรอให้ลูกค้าร้องขอ และให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมออกบัตรหรือรหัสทดแทน กรณีที่ต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน จากเดิมที่จะเรียกเก็บทุกกรณี แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูง อาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม

     นอกจากนั้นต่อไป ในการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม แบงก์จะต้องคำนึงใน 4 เรื่องหลักคือ ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควร ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซํ้าซ้อน และต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน

     แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดีที่แบงก์ชาติอยากลดภาระให้กับประชาชน แต่ช้าไปหรือไม่ เพราะถ้าดูตัวเลขในรายงานของแบงก์ชาติเอง จะเห็นว่า รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วง 9 เดือน ของปี 2562 พบว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการอยู่ที่ 147,861 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการเพียง 39,932 ล้านบาท

 

     มีกำไรจากส่วนนี้เหนาะๆ 107,929 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการคิดเป็นสัดส่วน 15.1% ของรายได้ทั้งหมด  นี่เพียงตัวเลข 9 เดือนของปี 2562 เท่านั้น ยังไม่นับรวมอดีตกาล ที่มีเพียงช่วงปลายปี 2560 ต่อเนื่องถึงปี 2561 เท่านั้นที่รายได้ค่าธรรมเนียมลดลง หลังจากมีการนำระบบโอนเงินแบบพร้อมเพย์มาใช้ จากนั้นรายได้ค่าธรรมเนียมก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

     ถ้าแยกแยะรายละเอียดของค่าธรรมเนียมแบงก์ช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 จะเห็นว่า เป็นการรับรอง รับอาวัล และคํ้าประกัน 7,351 ล้านบาท บัตรเครดิต 30,899 ล้านบาท บริการบัตร ATM บัตรเดบิต และบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ 24,869 ล้านบาท บริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน 15,432 ล้านบาท บริการที่ปรึกษา 275 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมจัดการ 6,660 ล้านบาท

     นอกจากนั้นยังมีค่าธรรมเนียมการจัดการออก การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และการค้าตราสารแห่งหนี้ 1,909 ล้านบาท การดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ของลูกค้า 2,184 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับเช็ค 1,181 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการออกเลตเตอร์ออฟเครคิต 1,241 ล้านบาท ค่านายหน้า 29,052 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมและบริการอื่นๆ อีก 26,810 ล้านบาท

     กว่าแบงก์ชาติจะตื่นมาคุมเล็กๆ น้อยๆ ที่แบงก์แอบแฝงไว้ แบงก์เหล่านี้ก็อิ่มพุงกางไปเสียแล้ว