ทรัมป์ลั่นหาแนวร่วมชาติมหาอำนาจ รุมบีบอิหร่าน

08 ม.ค. 2563 | 18:55 น.

 

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา เอาตำแหน่งเป็นประกัน ตราบใดที่ยังเป็นผู้นำประเทศ จะไม่ยอมให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์

 

ในการกล่าวแถลงการณ์ต่อชาวอเมริกันวานนี้ (8 ม.ค.) ก่อนเวลา 11.30 น.เล็กน้อยตามเวลาสหรัฐ หรือประมาณ 23.30 น.ตามเวลาไทย หลังจากที่อิหร่านใช้ขีปนาวุธโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ 2 แห่งในอิรักช่วงเช้าวันเดียวกัน เพื่อเป็นการตอบโต้การที่สหรัฐฯส่งโดรนเข้าโจมตีทางอากาศปลิดชีพนายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังของอิหร่านเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯกล่าวเปิดประเด็นแถลงการณ์ว่า ตราบใดที่เขายังเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จะไม่มีวันยอมให้อิหร่านได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ จากนั้นเขาได้แจ้งต่อประชาชนชาวอเมริกันว่า ไม่มีทหารอเมริกันเสียชีวิตจากการโจมตีของอิหร่าน และขอชื่นชมทหารอเมริกันที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่และเต็มไปด้วยศักยภาพ “ทหารของเราทุกนายปลอดภัยดี” และพูดถึงอิหร่านว่า เป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายที่มีบทบาทเป็นอย่างมาก

ทรัมป์ลั่นหาแนวร่วมชาติมหาอำนาจ รุมบีบอิหร่าน

ชักแม่น้ำทั้งห้า ดึงยูเอ็นเอสซีเป็นแนวร่วม

“มันนานเกินไปแล้ว หรือถ้าจะให้ชัดคือย้อนไปตั้งแต่ปี 2522 นานาประเทศต้องอดทนอดกลั้นกับพฤติกรรมระราน และสั่นคลอนสเถียรภาพทั้งในตะวันออกกลางและนอกภูมิภาคของอิหร่าน” ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า อิหร่านมีพฤติกรรมเป็นผู้สนับสนุนแถวหน้าของกลุ่มก่อการร้ายมาเป็นเวลายาวนาน และความพยายามที่จะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านก็เป็นภัยคุกคามโลกที่ศิวิไลซ์ แต่ช่วงเวลาเหล่านั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว

 

เขายังกล่าวถึงเหตุการณ์โจมตีสถานทูตอเมริกันในอิรักว่านายพลกัสซิม โซเลมานี (ที่ถูกสหรัฐฯปลิดชีพเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา) เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทำให้มีทหารอเมริกันเสียชีวิต ซึ่งที่จริงสหรัฐฯควรจะสังหารนายพลผู้นี้มานานแล้ว หลังจากนี้ไป สหรัฐฯจะเดินหน้าใช้มาตรการใหม่ๆคว่ำบาตรอิหร่านต่อไป จนกว่าอิหร่านจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเอง

 

ในช่วงท้ายๆของแถลงการณ์ ผู้นำสหรัฐฯได้เรียกร้องนานาประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน ซึ่งเป็นชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ให้ยกเลิกข้อตกลงที่ทำไว้กับอิหร่านในปี 2558 ซึ่งเป็นข้อตกลงให้อิหร่านยุติการพัฒนานิวเคลียร์พร้อมเปิดทางให้มีการติดตามตรวจสอบโดยหน่วยงานสากล เพื่อแลกกับการที่มหาอำนาจในโลกตะวันตกจะยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่อิหร่าน ทั้งนี้ ก็เพื่อรวมพลังกันกดดันอิหร่าน และเรียกร้องให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต เข้ามามีส่วนร่วมในการผ่อนคลายสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางด้วย

ทรัมป์ลั่นหาแนวร่วมชาติมหาอำนาจ รุมบีบอิหร่าน

จับสัญญาณท่าทีที่อ่อนลงของทรัมป์

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์จับตาว่าถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกของทรัมป์หลังจากที่อิหร่านโจมตีฐานที่มั่น 2 แห่งของกองกำลังสหรัฐฯในอิรัก จะเป็นการแตะเบรคชะลอความรุนแรงของการเผชิญหน้า หรือว่าจะเป็นการโหมเติมเชื้อไฟให้ขัดแย้งกันหนักขึ้น ซึ่งปรากฎว่า ท่าทีรวมทั้งถ้อยคำที่ผู้นำสหรัฐฯเลือกใช้ในการแถลงครั้งนี้ ลดความรุนแรงลง ไม่มีการกล่าวประณามอย่างกร้าวร้าวเหมือนอย่างที่เขามักจะทำในการทวิตข้อความที่ผ่านๆมา เชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลประเมินความเสียหายขั้นต้นของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯชี้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการโจมตีถือว่าน้อย และไม่มีผู้เสียชีวิต ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์มีช่องทางที่จะหลีกเลี่ยงการเดินหน้าเข้าสู่สมรภูมิสงครามกับอิหร่านอย่างเต็มรูปแบบ และรักษาพันธะสัญญาที่เขาเคยให้ไว้กับชาวอเมริกันในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อ 3 ปีที่แล้วซึ่งเขาสัญญาว่าจะนำพาสหรัฐฯออกห่างจากความยุ่งเหยิงวุ่นวายของสงครามที่ยืดเยื้อในตะวันออกกลาง แต่แล้วขณะที่การเลือกตั้งเพื่อรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่2 กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขากลับตัดสินใจสั่งโจมตีเพื่อสังหารนายพลโซเลมานี ทำให้สหรัฐฯต้องกลับเข้ามาสู่วงจรความขัดแย้งที่ปริ่มๆจะนำไปสู่ภาวะสงครามอยู่แล้วในเวลานี้

 

อีกข้อสังเกตที่สะท้อนว่า ท่าทีของผู้นำสหรัฐฯที่มีต่ออิหร่านดูอ่อนลง ผิดไปจากเดิม คือช่วงหนึ่งของแถลงการณ์เขากล่าวถึงกลุ่มไอเอส หรือ กลุ่มกองกำลังติดอาวุธรัฐอิสลาม โดยระบุว่า ไอเอสถือเป็นศัตรูของอิหร่านและเป็นศัตรูร่วมกับอเมริกัน ดังนั้น สหรัฐฯ และอิหร่านควรร่วมมือกันต่อสู้กับกองกำลังไอเอส ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะต้องเดินหน้าเพื่อสันติภาพ แต่ก็ยังไม่วายข่มขู่กลายๆ โดยย้ำว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพของกองกำลังสหรัฐฯ และยุทโธปกรณ์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีคุณภาพชั้นเยี่ยม

 

ขณะที่ทางด้านอิหร่านเอง นายโมฮัมหมัด จาวัด ซาริฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทวีตข้อความว่า อิหร่านตัดสินใจใช้มาตรการป้องกันตนเองซึ่งเป็นไปตามกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติข้อที่ 51 ที่อนุญาตให้ทำได้ และเป้าหมายการโจมตีของอิหร่าน ก็เป็นฐานที่มั่นทางการทหารที่สหรัฐฯใช้ในการโจมตีพลเรือนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านอย่างคนขี้ขลาด “พวกเราไม่ได้กระพือความขัดแย้งหรือก่อสงคราม แต่เราจะปกป้องตัวเองจากการคุกคามไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆก็ตาม”