สสว.คาดจีดีพีเอสเอ็มอีปี 63 โต3-3.5%

08 ม.ค. 2563 | 09:25 น.

สสว.คาดปี 63 จีดีพีเอสเอ็มอีเติบโต 3.0-3.5 ชี้ปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โครงการลงทุนขนาดใหญ่ การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจ e-Commerce

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า การขยายตัวของจีดีพีเอสเอ็มอี (GDP SME) ปี 63 คาดว่าจะอบยู่ที่ระดับ 3.0-3.5% โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โครงการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่จากภาครัฐ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอื่น ๆ ที่ทดแทนนักท่องเที่ยวจากจีน เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ e-Commerce เป็นต้น 

สสว.คาดจีดีพีเอสเอ็มอีปี 63 โต3-3.5%

                ทั้งนี้  จากการประเมินสถานการณ์ของ สสว. พบว่าปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าหากยังมีความยืดเยื้อ การแข็งค่าของเงินบาท สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การขอสินเชื่อของเอสเอ็มอี (SMEs) จากสถาบันการเงินยังคงทำได้ยาก รวมถึงกระแสของเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือแย่งส่วนแบ่งของธุรกิจในรูปแบบดั้งเดิม ฯลฯ แต่มีสัญญาณที่เป็นแนวโน้มที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการ SME เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการที่ภาครัฐระดมสรรพกำลังเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวก้าวทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ผ่านแนวทางสำคัญที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้
 SME ไทย เติบโตและอยู่รอดได้

สำหรับสัญญาณการปรับตัวของผู้ประกอบการ SME ไทย สู่เศรษฐกิจดิจิทัลเห็นได้จากการขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ธุรกิจ Food delivery ซึ่งในปี 2562 มีการประมาณการมูลค่าของธุรกิจดังกล่าวรวมไม่น้อยกว่า 33,000-35,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี เช่นเดียวกับธุรกิจปล่อยห้องพัก ผ่าน Platform Airbnb ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ผู้ประกอบการไทยมีรายได้จากการปล่อยห้องพักผ่าน Airbnb ในปี 2562 รวมมูลค่าถึง 33,000 ล้านบาท จำนวนนี้เกือบครึ่งเป็นการปล่อยเช่าในเมืองรอบนอกกรุงเทพ

“สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า SME ไทยสามารถปรับตัวเข้าสู่กระแสเศรษฐกิจดิจิทัลได้ค่อนข้างดี และจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นหากได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เพราะเป็นหนทางให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงตลาด เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในระยะเวลาที่รวดเร็ว นอกจากเป็นการเพิ่มโอกาสในการขายแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนด้านการตลาด
ได้อีกด้วย

ดร.วิมลกานต์ กล่าวต่อไปอีกว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ SME โดยเฉพาะ Micro SMEs สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้ แนวทางการส่งเสริมในปี 2563 นี้ รัฐบาลจึงมุ่งสนับสนุนงบประมาณการส่งเสริม SME วงเงินรวมกว่า 2,686 ล้านบาท  โดย สสว.เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ดำเนินงานผ่านแผนงานบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล มีหน่วยงานพันธมิตรเข้าร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริม SME รวม 23 หน่วยงาน จาก 9 กระทรวง 1 รัฐวิสาหกิจ ดำเนินโครงการร่วมกันไม่น้อยกว่า 17 โครงการ มีงบประมาณรวม 1,738 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการที่การดำเนินงานโดย สสว. โดยตรงวงเงิน 948 ล้านบาท  ซึ่งทั้งหมดคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการยกระดับความสามารถในการทำธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 380,000 ราย ทั่วประเทศ

สสว.คาดจีดีพีเอสเอ็มอีปี 63 โต3-3.5%

อย่างไรก็ดี  ภายใต้แผนส่งเสริม SME ในปี 63 จะมุ่งเน้น 5 ด้านหลัก 1. สร้างผู้ประกอบการใหม่ให้ดำเนินธุรกิจแบบ Smart MSME  ,2. ขับเคลื่อน MSME สู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล  ,3. พัฒนา Micro SME ให้ได้รับมาตรฐานสินค้า เข้าสู่ตลาดและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้  ,4. สร้างการตระหนักรู้ เรื่องการใช้ Data ให้เป็นประโยชน์ในการต่อยอดธุรกิจ (Data-Driven Entrepreneur)  และ5. ส่งเสริม MSME ที่ผลิตสินค้าให้ต่อยอดธุรกิจการค้าบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและยกระดับรายได้ (Servitization)

อย่างไรก็ตาม สสว.พบว่า ผู้ประกอบการ SME ไทย 3 ล้านรายทั่วประเทศ เมื่อนำเกณฑ์รายได้มาใช้พบว่า 2.6 ล้านรายเป็นธุรกิจไมโคร กล่าวคือมีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือไม่เกิน 150,000 บาทต่อเดือน  และจ้างงานไม่เกิน 5 คน ดังนั้น โครงการต่างๆเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ในปี 2563 จึงให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายย่อย หรือ ไมโคร เป็นลำดับแรก  โดยมี ศูนย์ OSS ของ สสว. ที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นกลไกสำคัญในการให้คำปรึกษาแนะนำและส่งต่อผู้ประกอบการให้ได้รับการส่งเสริม สนับสนุน จากหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่

สสว.คาดจีดีพีเอสเอ็มอีปี 63 โต3-3.5%

นอกจากนี้ สสว. ยังได้สานต่อการพัฒนาฐานข้อมูลในรูปแบบเว็บไซต์กลาง (Web Portal) ภายใต้ชื่อ “SMEONE” หรือ www.smeone.info ซึ่งรวบรวมข่าวสาร ข้อมูล องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งเชื่อมต่อบริการ กิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ในการส่งเสริม สนับสนุน SME ของภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการเงินทีเกี่ยวข้อง  และ Application SME Connext เป็นต้น  ขณะเดียวกัน เพื่อสนองตอบนโยบายรัฐบาล ในการส่งเสริม ช่วยหลือให้ SME สามารถเข้าถึงมาตรฐานสินค้าและบริการได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นหนทางจะช่วยให้สินค้าของผู้ประกอบการ เข้าสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น สสว. มีแนวทางจะประสานความร่วมมือกับ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ สสว. และกระทรวงการคลัง ในการขยายบทบาทการให้บริการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเพิ่มเติมจากสินค้าเกษตรและอาหาร ไปสู่สินค้าอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อียู เป็นต้น