สทนช.แก้แล้งเร่งด่วน 43 จังหวัดเสี่ยงขาดน้ำ

08 ม.ค. 2563 | 07:48 น.

สนทช.เดินหน้าแก้ภัยแล้งเร่งด่วน เน้นน้ำอุปโภค-บริโภค 43 จังหวัดเสี่ยงขาดน้ำ

 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคมีความสำคัญอันดับแรกจึงต้องเร่งดำเนินการเป็นการด่วน ครอบคลุมพื้นที่ 43 จังหวัดโดย สทนช.ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อสำรวจความพร้อมของหน่วยงานดำเนินการป้องกันปัญหาพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบทั้งการปรับแผนจากงบปกติ คือ งบประมาณประจำปี 2563 มาเร่งดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำรุนแรงก่อนเป็นอันดับแรกซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะ 1-2 เดือนนี้เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำสำรองให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวม 1,337 โครงการ วงเงิน 2,950 ล้านบาท

อีกส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและงบประมาณปกติไม่เพียงพอ สทนช.ได้วิเคราะห์รวบรวมแผนงานโครงการของหน่วยงานต่างๆที่ไม่มีความซ้ำซ้อนกับงบประมาณปกติ

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 ที่ผ่านมาได้ให้ความเห็นชอบแผนงานปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งระยะเร่งด่วนโดยเน้นพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภคและบริโภคทั้งในเขตและนอกเขตการประปารวม 2,041 โครงการ วงเงิน 3,079 ล้านบาท แบ่งเป็น
 

1.ในเขตพื้นที่บริการการประปา 50 โครงการ วงเงิน 1,159 ล้านบาท ดำเนินการโดยการประปาส่วนภูมิภาค  

 

2. พื้นที่นอกเขตจำนวน 1,991 โครงการ วงเงิน 1,920 ล้านบาท ดำเนินการโดย 4 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองทัพบก กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม อาทิ การขุดเจาะบ่อบาดาล เชื่อมโยงแหล่งน้ำผิวดิน เป็นต้น

สำหรับแผนดังกล่าวนั้น ครอบคลุมสถานพยาบาลนอกเขตการประปาที่ต้องมีพร้อมให้บริการคนไข้ด้วยแล้วซึ่งมีจำนวน 7 โครงการ วงเงินประมาณ 24  ล้านบาท เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล หลังจากเผชิญปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้งที่กระทบต่อการเข้าถึงน้ำสำหรับคนไข้น่าจะเป็นครั้งแรกที่การประปาของสถานพยาบาลได้รับการจัดลำดับอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องที่สุด

 

“สำหรับเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาโครงการเร่งด่วนเหล่านี้ คือ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้เป็นรูปธรรม ไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะเดือดร้อนไม่มีน้ำอุปโภคบริโภคทันท่วงที” ดร.สมเกียรติกล่าว

 

ที่สำคัญเมื่อถึงฤดูฝนกลับมาจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงอีก 2 เดือน เท่ากับทอดฤดูแล้งยาวนานต่อเนื่องอีกเป็น 8 เดือน  การเร่งแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคล่วงหน้าจึงต้องทำให้ได้ตามเส้นตาย 120 วันโดยปรับทุกกระบวนท่า

การประชุมหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องเมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมาของ
สทนช. คือ การเน้นย้ำ กำชับความพร้อมของแต่ละโครงการโดยจะเสนอโครงการและงบประมาณแก้ไขภัยแล้งเร่งด่วนซึ่งล่าสุดในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมาได้อนุมัติงบกลางแล้ว

นอกจากนี้ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณปี 2563 เมื่อสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เรียบร้อยแล้วก็จะต้องเร่งรัดดำเนินการทันที โดยเฉพาะโครงการที่ต้องดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 57 จังหวัด จำนวน 1,434 โครงการ วงเงินประมาณ 9,400 ล้านบาท เร่งดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ พัฒนาแก้มลิง ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน ปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้สามารถเก็บกักน้ำในฤดูฝนประมาณ 166,300 ไร่ ปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ 135 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 72,190 ครัวเรือน