น้ำมันพุ่ง เศรษฐกิจ  เสี่ยงถดถอย

08 ม.ค. 2563 | 07:50 น.

สถานการณ์ตึงเครียดตะวัน ออกกลาง ดันราคานํ้ามันดิบพุ่ง หุ้นพลังงานขานรับคึกคัก โบรกฯ มองราคานํ้ามันมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก ชี้หากขึ้นรุนแรงซํ้าเติมเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ อิหร่าน และอิรัก ทำให้เกิดความกังวลในการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก นักลงทุนย้ายการลงทุนจากสินทรัพย์เสี่ยง เข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ และตราสารหนี้ โดยดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงกว่า 27 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 2 วันสูญ 2.9 แสนล้านบาท จาก 16.92 ล้านล้านบาท วันที่ 2 มกราคม 2563 ลงมาอยู่ที่ 16.63 ล้านล้านบาท ในวันที่ 6 มกราคม 2563 ขณะที่ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นถึงบาทละ 350 บาท เช่นเดียวกับราคานํ้ามันดิบโลกปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีปรับเพิ่มขึ้นตามอย่างคึกคัก

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า มีโอกาสสูงที่อิหร่านจะออกมาตอบโต้สหรัฐฯ เพื่อปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก แต่คงไม่รุนแรงจนเป็นเหตุให้สหรัฐฯ ต้องกลับเข้ามาโจมตีเป็นครั้งที่ 2 โดยในกรณีที่มีการตอบโต้จากอิหร่านนั้นก็ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป้าหมายของการโจมตีสหรัฐฯ จากอิหร่าน คาดว่าน่าจะเป็นฐานทัพสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในอิรัก ซึ่งอิรักถือเป็นประเทศผู้ผลิตนํ้ามันอันดับที่ 2 ในกลุ่มโอเปก โดยผลิตนํ้ามันประมาณ 4.6 
ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายที่กระทบต่อแหล่งผลิตนํ้ามันในอิรักก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อราคานํ้ามันให้ปรับตัวพุ่งขึ้นได้อย่างแน่นอน

น้ำมันพุ่ง เศรษฐกิจ  เสี่ยงถดถอย

กรณีต่อมายังมีโอกาสที่อิหร่านอาจใช้เรือรบไปปิดเส้นทางการขนส่งนํ้ามันที่ช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นช่องแคบที่ใช้ขนส่งนํ้ามันมากถึง 20% ของปริมาณนํ้ามันที่ใช้ในแต่ละวันของโลก หากเกิดกรณีนี้ขึ้นจริงก็อาจเป็นชนวนนำไปสู่การเกิดสงครามขึ้นได้ กรณีสุดท้ายคืออาจเกิดการโจมตีซาอุดีอาระเบียอีกครั้งและทำให้แหล่งผลิตนํ้ามันได้รับผลกระทบ หลังจากครั้งก่อนหน้าเคยเข้าไปโจมตีหนึ่งครั้งจนทำให้ปริมาณนํ้ามันหายออกไปจากระบบประมาณ 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

“ประเมินค่อนข้างยากว่าทั้ง 3 กรณีจะเกิดขึ้นเมื่อไร จะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ตราบใดที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ก็น่าจะส่งผลให้ราคานํ้ามันคงตัวอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่หากเกิดเหตุการณ์สู้รบในระดับรุนแรงอาจเห็นราคาทะลุไป 70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งราคานํ้ามันที่ปรับเพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในส่วนของการอุปโภคบริโภคซึ่งปัจจุบันเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กรณีที่ราคานํ้ามันปรับขึ้นรุนแรงอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัสฯ ระบุว่า ราคานํ้ามันดิบโลกพุ่งขึ้นแรง โดยมีปัจจัยหนุนจากฝั่งความต้องการ คือพัฒนาการสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน ล่าสุดทางการจีนเผยว่าจะเดินทางไปกรุงวอชิงตันดี.ซี.เพื่อเซ็นสัญญาเฟสแรกในวันที่ 13 มกราคม 2563 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดการเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 15 มกราคม 2563 ฝั่งการผลิตเกิดความกังวลว่ากำลังการผลิตบางส่วนอาจจะหายไปจากความตึงเครียดในฝั่งตะวันออกกลาง หลังจากวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา สหรัฐฯมีการปฏิบัติการโจมตีทางอากาศสังหาร นายพลกัสซิม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังนักรบพิเศษ Quds Force ทหารคนสำคัญของผู้นำสูงสุดอิหร่าน ทำให้ฝั่งอิหร่านไม่พอใจ และประกาศขู่จะปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นช่องขนส่งนํ้ามันประมาณ 20% ของการผลิตนํ้ามันทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในระยะสั้นราคานํ้ามันดิบมีโอกาสปรับขึ้นต่อ เห็นได้จากปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3% อาทิ Brent เพิ่มขึ้น 3.6%, Dubai เพิ่มขึ้น 3.5% และ WTI เพิ่มขึ้น 3.1% โดยหนุนราคานํ้ามันดิบทรงตัวระดับสูงยืนเหนือ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลดีต่อหุ้นพลังงาน คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT), บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC)

ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศ ไทย) ระบุว่า กลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี มีผลกระทบค่อนข้างผสมผสาน โดยกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ โดยหุ้นนํ้ามันที่ Magin มีความสัมพันธ์ทางเดียวกับทิศทางราคานํ้ามัน ได้แก่ PTTEP, PTT และ PTTGC ด้านกลุ่มที่เสียประโยชน์ คือ หุ้นที่มีต้นทุนการผลิตอ้างอิงราคานํ้ามัน ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) (SCC), บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) 
(TASCO) และ บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EPG) (อ่านตารางประกอบ)

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,538 วันที่ 9-11 มกราคม 2563