‘สารี’เปิดแผนปี2020 ไล่บี้ผู้ประกอบการไร้มาตรฐาน

08 ม.ค. 2563 | 07:09 น.

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดแผนปี 2563 เดินหน้าจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคแล้วเสร็จภายในเมษายน พร้อมผลักดันมาตรการคุมเข้มราคายาโรงพยาบาลเอกชน บี้อี-คอมเมิร์ซจดทะเบียนถูกต้อง กวดขันอาหาร-ฟาสต์ฟู้ดได้คุณภาพ เผยสถิติปี 2562 คนไทยแห่ร้องเรียนเรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากเป็นอันดับ 1

 

จากกระแสไขมันทรานส์ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย นํ้ามันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oil) โดยได้ร่วมมือกับ อย. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่ากระแสไขมันทรานส์ รวมถึงชานมไข่มุกสามารถสร้างการตื่นตัวให้กับผู้บริโภคได้อย่างมาก ล่าสุดเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้ออกมาเผยว่าในปี 2563 จะเดินหน้าสร้างมาตรฐานการคุ้มครองให้ผู้บริโภค และกระตุ้นให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าใช้สิทธิของตัวเองมากขึ้น

‘สารี’เปิดแผนปี2020  ไล่บี้ผู้ประกอบการไร้มาตรฐาน

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า จากความสำเร็จของโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไขมันทรานส์, ชานมไข่มุก ที่พบสารกันบูดเกือบทุกแบรนด์หลังจากสุ่มตรวจ ฯลฯ ทำให้ผู้บริโภคเกิดการตื่นตัวเป็นอย่างมาก ดังนั้นแนวนโยบายของมูลนิธิในปี 2563 จะเดินหน้าสานต่องานต่อเนื่อง โดยปีนี้มพบ.จะมุ่งดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยมพบ.จะพยายามดำเนินการจัดตั้งให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม-เมษายนนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างรอการขึ้นทะเบียนให้เสร็จสิ้น 2.ผลักดันการควบคุมราคายาและบริการแพทย์ไม่ให้สูงเกินกำหนด โดยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จากปีก่อนที่ทำการตรวจสอบไปพบว่ามีราคายาที่สูงเกินจริงประมาณ 1,000-10,000 เท่า โดยปีนี้มพบ.จะมุ่งผลักดันให้โรงพยาบาลต่างๆ เข้าสู่นโยบายขับเคลื่อนในการพัฒนาหน่วยงานบริการทุกแห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศเป็นโรงพยาบาลคุณธรรม และ หน่วยงานคุณธรรม ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต่อเนื่องตามประกาศที่ออกมา

 

3.ติดตามร้านค้าออนไลน์ที่ประกอบธุรกิจขายสินค้าและบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค ยื่นจดทะเบียนการประกอบธุรกิจให้ถูกต้อง ซึ่งหากร้านค้าไม่ทำตามจะต้องถูกดำเนินการทั้งจำคุกและปรับ รวมถึงติดตามร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนแล้วว่าดำเนินการธุรกิจเป็นไปตามข้อกำหนดที่เข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมามีร้านค้าที่เข้าร่วมแล้วบ้าง เช่น JD เซ็นทรัล, เทพช็อป (LnwShop) เป็นต้น

‘สารี’เปิดแผนปี2020  ไล่บี้ผู้ประกอบการไร้มาตรฐาน

4.ติดตามและควบคุมคุณภาพอาหารและของฝากเพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย และเกิดการตื่นตัวในการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งในปีก่อนนอกจากการสร้างกระแสตื่นตัวในเรื่องไขมันทรานส์ และชานมไข่มุกที่พบสารกันบูดแล้ว ยังพบยาปฏิชีวนะในอาหารฟาสต์ฟู้ด เนื้อหมู และเนื้อไก่สดเพิ่มเติม

 

ในปีก่อนมพบ.ได้ทำการสุ่มตรวจอาหารฟาสต์ฟู้ด เนื้อหมู และเนื้อไก่ พบว่าตรวจเจอสารเคมีตกค้างที่เกินมาตรฐาน และสารเคมีตกค้างไม่เกินมาตรฐาน แบ่งเป็น 1.อาหารกลุ่มฟาสต์ฟู้ดจากการสุ่มตรวจ 5 ตัวอย่างพบ 1 ตัวอย่างที่มียาปฏิชีวนะตกค้าง ไม่เกินมาตรฐาน 1 ตัวอย่าง 2.สุ่มตรวจเนื้อหมูสด ในตลาดสดจากกลุ่มตัวอย่าง 15 รายพบ 2 ตัวอย่างที่มีสารตกค้างไม่เกินมาตรฐาน 3.สุ่มตรวจไก่สด จากตัวอย่าง 62 ราย พบ 5 ตัวอย่าง ที่มีสารตกค้างเกินมาตรฐาน และ 21 ราย มีสารปฏิชีวนะไม่เกินมาตรฐาน รวมถึงผักผลไม้ต่างๆ ที่มีสารเคมีตกค้าง เช่น น้ำส้มคั้นสด เป็นต้น ซึ่งการที่สคบ.มุ่งให้ความสำคัญเรื่องนี้ตั้งแต่ปีก่อนจนถึงปีนี้ เนื่องจากสคบ.พบว่าใน 1 ปีมีคนที่เสียชีวิตจากยาปฏิชีวนะจำนวนเฉลี่ย 4 หมื่นรายต่อปี

 

5.รณรงค์รถโดยสารสาธารณะปลอดภัย เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้เข้าร้องเรียนจำนวนมาก พร้อมทั้งมพบ.เชื่อว่าหากรถโดยสารสาธารณะมีความปลอดภัย บริการดี มีมาตรฐานก็จะช่วยให้ประชาชนขับรถยนต์ส่วนบุคคลน้อยลง และช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ซึ่งในทุกโครงการที่สคบ.จะดำเนินการปีนี้อยากฝากถึงผู้บริโภคทุกคนให้ช่วยเป็นหูเป็นตาและแจ้งเข้ามาที่มพบ.ได้ทุกเรื่อง อยากให้ผู้บริโภคใช้สิทธิของตัวเองเพราะแค่ในปัจจุบันการร้องเรียนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องขึ้นมาช่วยกันปฏิบัติด้วย ซึ่งผู้บริโภคต้องช่วยทำงานร่วมกับสคบ.

‘สารี’เปิดแผนปี2020  ไล่บี้ผู้ประกอบการไร้มาตรฐาน

สำหรับสถิติการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในปี 2562 (เดือนมกราคม-ธันวาคม 2562) พบว่ามีผู้ร้องเรียนทั้งสิ้น 3,464 ราย โดยหมวดสินค้าและบริการที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 1,386 ราย คิดเป็น 40% รองลงมาได้แก่ บริการสาธารณะ 581 ราย หรือ 16.7% บริการสุขภาพและสาธารณสุข 469 ราย หรือ 13.5% การเงินการธนาคาร 410 ราย หรือ 11.8% และสินค้าและบริการทั่วไป 326 ราย หรือ 9.4%

 

หน้า 31-32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,538 วันที่ 9-11 มกราคม 2563