ชี้ 3 ทางออก หลุดกับดัก ‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน’

11 ม.ค. 2563 | 06:50 น.

 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากระแสของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันเป็นสิ่งที่หลายคนต่างตระหนักถึงโดยเฉพาะองค์กรธุรกิจที่ต่างให้ความสนใจกันและเริ่มมีการปรับตัวเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลมากขึ้น แต่ต้องบอกว่านั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะการลงมือทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันจริงๆ จะเกิดขึ้นในปี 2563 นี้ ขณะที่หลายองค์กรยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลได้สำเร็จเพราะปัจจัยของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญคือการปรับตัว รวมถึงการปรับกระบวนการทำงานและวิธีคิดของคนภายในองค์กรด้วย

นายกฤษดา สาธุกิจชัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท เนทติเซนท์ จำกัด (Netizen) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ขณะที่การลงทุนด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันในทุกอุตสาหกรรมไทยนั้นมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งภายในปี 2562 - 2565 จะมีอัตราเพิ่มขึ้น 19.42% โดยที่ผ่านมาเรียกว่าเป็นการปูทางไว้ก่อนและคาดว่าในปี 2563 นี้จะเริ่มเข้าสู่การเป็นดิจิทัลมากขึ้น ทั้งนี้ที่ผ่านมาองค์กรที่ทรานส์ฟอร์มตัวเองสำเร็จมีเพียง 20% ซึ่งปัจจัยที่จะนำพาให้องค์กรสามารถเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ 1. People Ready หรือความพร้อมของคนในองค์กร ซึ่งหากยังไม่พร้อมก็จำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งทีมเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยน แปลงด้านดิจิทัล 2. Process Ready หรือความพร้อมของกระบวนการทำงานภายในองค์กรว่ามีความพร้อมหรือไม่ที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี 3. System Ready หรือความพร้อมของระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ภายในองค์กร

 

สำหรับองค์กรโดยทั่วไปจะมีงบลงทุนด้านไอทีประมาณ 4-5% ของยอดขายขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร แต่ในปี 2563 คาดว่าบัดเจ็ตจะเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัวหรือราว 8-10% เพราะตอนนี้มันกลายเป็น Global Force ถ้าใครยังไม่เริ่มก็อาจจะสายเกินไป ซึ่งเดิมจะมีเพียงองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้นที่ให้ความสําคัญในการลงทุนเรื่องของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน แต่เนื่องจากกระแสของดิจิทัลที่เข้ามาตอนนี้ทำให้องค์กรในทุกระดับหันมาตระหนักถึงเรื่องของการลงทุนด้านไอทีที่มากขึ้น

 

ชี้ 3 ทางออก  หลุดกับดัก  ‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน’

 

นอกจากนี้เรื่องของโซลูชันหรือซอฟต์แวร์ยังเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ เพื่อรองรับข้อมูลการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่มากขึ้น รูปแบบของระบบที่ต้องปลั๊กกับเทคโนโลยีรอบตัวได้ สามารถเชื่อมต่อได้กับทุกระบบ ที่ผ่านมาเทคโนโลยีของแต่ละองค์กรยังไม่พร้อมสำหรับการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบอีอาร์พี (ERP) ภายในองค์กรเพื่อให้สามารถรองรับได้เพิ่มขึ้น

จะเห็นว่าเรื่องของซอฟต์แวร์และไอทีเป็นแค่หนึ่งในปัจจัยของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันหลายครั้งที่ซอฟต์แวร์ตัวเดียวกันแต่องค์กรหนึ่งสำเร็จ แต่อีกองค์กรไม่สำเร็จ บางองค์กรอาจบอกว่ายังทำไม่ได้เพราะวิธีคิดของคนภายในองค์กรที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการไปทีละขั้นตอน ทุกองค์กรรู้ว่าต้องมีการปรับตัวซึ่งอยู่ที่ว่าองค์กรไหนพร้อมที่จะลงทุนเลย หรืออาจต้องมีการฝึกอบรมคนในองค์กรให้รับรู้ถึงการเข้ามาของดิจิทัล

 

 

อย่างไรก็ตาม ทิศทางตอนนี้ผู้ประกอบการต่างมองไปที่เรื่องการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ สร้างมูลค่าให้กับธุรกิจที่ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น การเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า ซัพพลายเออร์ หรือพฤติกรรมของคนในองค์กร ทำให้องค์กรตัดสินใจที่จะรีบทำไม่เช่นนั้นอาจเกิดการดิสรัปต์ได้ในอนาคต ถ้าธุรกิจไม่ลงทุนหรือสร้างอะไรใหม่ขึ้นมา เพราะปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก อีก 2-3 ปีข้างหน้าธุรกิจจะไปต่อได้หรือไม่เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง

 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,538 วันที่ 9-11 มกราคม 2563