สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (47)

08 ม.ค. 2563 | 11:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3538 ระหว่างวันที่ 9-11 ม.ค.2563 โดย.... บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'
ประวัติศาสตร์การประมูล (47)

 

          ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของไทยที่มีความล่าช้าในการเซ็นสัญญายาวนานที่สุด และเป็นบทความที่ยาวที่สุด
          กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่าคู่แข่งจึงชนะประมูล แต่กว่าจะมีการลงนามกันได้ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี 
          สัญญาที่จะลงนามกันนั้นเป็นอย่างไร มาติดตามเรื่องสัญญาในเรื่องข้อพิพาทและการฟ้องร้อง การบอกเลิกสัญญากันต่อนะครับ 3) ในส่วนการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ คู่สัญญาตกลงให้มีการชดเชยแก่เอกชนคู่สัญญาสำหรับทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
          ก) กรณีที่เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้พัฒนาทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ รฟท.มีสิทธิเลือกดำเนินการชดเชยด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
          1. รฟท.จะนำรายได้ที่เกิดจากการประมูลให้เช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ซึ่งเป็นไปตามอัตราราคาตลาด เฉพาะในส่วนทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ดังกล่าว พร้อมทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้นั้น (ซึ่งปลอดจากการรอนสิทธิ์และภาระผูกพันใดๆ) มาชดเชยให้แก่เอกชนคู่สัญญา แต่ทั้งนี้ไม่เกินกว่ารายได้ที่ รฟท.ได้รับจากการประมูลให้เช่าข้างต้น
          2. รฟท.และเอกชนคู่สัญญาจะเข้าทำสัญญาให้เช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เฉพาะในส่วนทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ดังกล่าว ต่อไปโดยมีข้อกำหนด เงื่อนไขและระยะเวลาการเช่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน
          ข) กรณีที่บุคคลอื่นซึ่งเช่า เช่าช่วงและ/หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ จากเอกชนคู่สัญญา เป็นผู้พัฒนาทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ รฟท.จะชำระค่าชดเชยการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ให้แก่เอกชนคู่สัญญา ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ทั้งนี้ไม่เกินกว่ารายได้ที่ รฟท.ได้รับมาไม่ว่จะมาจากการเข้าสวมสิทธิ์ของ รฟท.หรือบุคคลอื่นที่เข้ามาสวมสิทธิ์แทน รฟท.โดยผ่านการประมูลให้เช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ซึ่งเป็นไปตามอัตราราคาตลาด เฉพาะในส่วนทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ดังกล่าว

 

          อย่างไรก็ตาม ในการชำระค่าชดเชยให้แก่เอกชนคู่สัญญาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อนี้ คู่สัญญาตกลงให้ รฟท.มีสิทธิหักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายที่ รฟท.ได้รับจากการเลิกสัญญาร่วมลงทุนเพราะเหตุเลิกสัญญามาจากความผิดของเอกชนคู่สัญญารวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการประมูลให้เช่าทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ดังกล่าว และค่าจ้างที่ปรึกษาในการดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้อง (หากมี)
          4) ในระหว่างการดำเนินการใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนเพราะเหตุเลิกสัญญาจากความผิดของเอกชนคู่สัญญาตามที่กำหนดไว้ในข้อ 30.2(1)เอกชนคู่สัญญาจะให้ความร่วมมือและช่วยเหลือ รฟท.ในการดำเนินโครงการฯ โดยเอกชนคู่สัญญาจะไม่ดำเนินการใดๆ หรือจัดให้มีการดำเนินการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมอันจะมีผลทำให้การดำเนินโครงการฯ ต้องล่าช้าหรือหยุดชะงัก หรือไม่สามารถดำเนินการได้หรือกระทบต่อการให้บริการสาธารณะของโครงการฯ
          ทั้งนี้ ในการให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือข้างต้น รฟท.จะอนุญาตให้เอกชนคู่สัญญาได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินการข้างต้น รวมถึงกรณีที่เอกชนคู่สัญญาช่วยเหลือการดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญาจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม
          (2) การเลิกสัญญาร่วมลงทุนเพราะเหตุความผิดของ รฟท. (ก) เหตุเลิกสัญญาร่วมลงทุนเพราะความผิดของ รฟท. เอกชนคู่สัญญามีสิทธิบอกเลิกสัญญาร่วมลงทุนเมื่อเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
          1) รฟท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนที่เหลือ นอกเหนือจากพื้นที่พร้อมส่งมอบในส่วนของโครงการเกี่ยวกับรถไฟได้จนมีผลกระทบร้ายแรงอย่างมีนัยสำคัญต่อสิทธิของเอกชนคู่สัญญาที่จะดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ในสัญญาร่วมลงทุนนี้ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเดินรถไฟความเร็วสูง
          2) อัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้ตามสัญญาร่วมลงทุนนี้ไม่มีผลบังคับใช้ตามสัญญาร่วมลงทุน หรือ

          3) รฟท.สิ้นสภาพ หรือไม่มีอำนาจ หรือหน้าที่ที่จะดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุนนี้โดยไม่มีหน่วยงาน หรือองค์กรอื่นใดเข้ามาแทนที่เพื่อรับโอนสิทธิและหน้าที่ของ รฟท.ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทย
          (ข) การใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนเพราะความผิดของ รฟท.ก่อนใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาร่วมลงทุนตามข้อสัญญานี้ เอกชนคู่สัญญาจะบอกกล่าวแก่ รฟท.ให้แก้ไขเยียวยาการผิดสัญญาร่วมลงทุนหรือเหตุผิดนัดอื่นๆ และ รฟท.จะต้องใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดที่จะแก้ไขเยียวยาเหตุดังกล่าวภายในระยะเวลาที่เอกชนคู่สัญญากำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่ง (1)ปี นับจากวันที่ได้รับการบอกกล่าวนั้น ซึ่งเอกชนคู่สัญญาอาจขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปได้อีก หากเห็นว่ามีความจำเป็นและมีเหตุผลสมควรทั้งนี้ หากเหตุการณ์ดังกล่าวมิได้รับการแก้ไขเยียวยาภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือระยะเวลาที่ได้ขยายออกไป เอกชนคู่สัญญาอาจใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนนี้ได้ทันที

 

          (ค) ผลของการใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนเพราะความผิดของ รฟท.
          1) กรณีที่มีการใช้สิทธิเลิกสัญญาร่วมลงทุนเพราะความผิดของ รฟท.ตามข้อ 30.2(2)(ข) รฟท.จะพิจารณาชำระค่าชดเชยให้แก่เอกชนคู่สัญญา ดังต่อไปนี้
          ก) กรณีเลิกสัญญาร่วมลงทุนในช่วงระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1(1) รฟท.ตกลงชำระค่าชดเชยทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ ในส่วนของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ซึ่งปลอดจากการรอนสิทธิ์และภาระผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น ให้แก่เอกชนคู่สัญญาเท่ากับมูลค่าทางบัญชี รวมทั้งชดเชยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงิน ที่ไม่ได้รวมอยู่ในมูลค่าทางบัญชี โดยค่าชดเชยสำหรับงานโยธาของโครงการเกี่ยวกับรถไฟจะต้องไม่เกินวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ
          ข) กรณีเลิกสัญญาร่วมลงทุนในช่วงระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1(2) รฟท.ตกลงชำระค่าชดเชยทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ ในส่วนของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ซึ่งปลอดจากการรอนสิทธิ์และภาระผูกพันใดๆ ทั้งสิ้นให้แก่เอกชนคู่สัญญา เท่ากับมูลค่าตลาดยุติธรรม (Fair Market Value) รวมทั้งชดเชยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงิน ที่ไม่ได้รวมอยู่ในมูลค่าตลาดยุติธรรม และ รฟท.ตกลงชำระวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ ที่เหลืออยู่ให้แก่เอกชนคู่สัญญา
          ทั้งนี้ การชำระค่าชดเชยข้างต้นต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ โดยหากไม่ใช่ทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ดังกล่าว ในกรณีนี้เอกชนคู่สัญญาจะต้องรื้อถอนบรรดาทรัพย์สินที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ ในส่วนของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ (ไม่ว่าจะมีการก่อสร้างหรือติดตั้ง หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือการติดตั้ง) พร้อมทั้งส่งมอบพื้นที่ของโครงการฯที่ รฟท.เป็นเจ้าของหรือจัดหาภายใต้สัญญาร่วมลงทุน ให้แก่ รฟท.ในสภาพที่ รฟท.สามารถเข้าใช้ดำเนินการต่อได้ ณ วันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลใช้บังคับ โดยค่าใช้จ่ายของเอกชนคู่สัญญาทั้งสิ้น
          เทียบข้อสัญญารัฐกับเอกชนแล้ว ท่านว่าใครบอกเลิกใครง่ายกว่า!


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (46)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (45)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (44)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (43)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (42)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (41)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (40)