ไม่ไป อยู่ที่เดิม เพิ่มเติมอีก 5 พัน จุดยืนมะกันในอิรัก

07 ม.ค. 2563 | 03:57 น.

 

นายมาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สื่อวานนี้ (6 ม.ค.) เกี่ยวกับข่าวที่ว่ารัฐสภาอิรักได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายเมื่อวันอาทิตย์ (5 ม.ค.) ให้รัฐบาลยกเลิกการอนุญาตให้กองกำลังของต่างชาติประจำการอยู่ในอิรัก ซึ่งในส่วนของสหรัฐฯนั้นมีทหารประจำการอยู่ในพื้นที่ต่างๆของประเทศอิรักราว 5,200 นาย และหลังจากนั้นได้มีการรายงานข่าวอ้างอิงหนังสือฉบับหนึ่งจากเจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทัพที่บ่งชี้ว่าสหรัฐฯกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการถอนทหาร ซึ่งเรื่องนี้นายเอสเปอร์ยืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ตัดสินใจถอนทหารออกจากอิรักแต่อย่างใด เพียงแต่อาจมีการจัดวางกำลังพลใหม่ในบางส่วน

มาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ

“ผมไม่ทราบอะไรเลยเกี่ยวกับหนังสือที่ถูกอ้างถึง ซึ่งระบุว่ากำลังมีการเตรียมการบางอย่างสำหรับถอนทหารอเมริกันออกจากอิรัก ไม่มีการตัดสินใจอะไรใดๆ เพื่อการถอนกำลังพล” รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯย้ำว่า  สหรัฐฯไม่มีแผนจะถอนกองกำลัง เพราะยังคงมุ่งมั่นในการทำสงครามเพื่อกำจัดกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรักและในภูมิภาคตะวันออกกลาง

 

ในส่วนของเอกสารเจ้าปัญหาที่รายงานของสื่อระบุว่า เป็นจดหมายจากนายพลจัตวา วิลเลียม ซีลีย์ ผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจแห่งกองทัพสหรัฐฯ ลงวันที่ 5 มกราคม 2563  แจ้งถึงกองทัพอิรักว่า ทหารอเมริกันกำลังเตรียมการถอนกำลังพลออกจากอิรัก ด้วยความเคารพอธิปไตยและการตัดสินใจของอิรักที่ต้องการให้กองกำลังต่างชาติออกไปจากประเทศ  ส่วนหนึ่งของจดหมายยังระบุด้วยว่า กองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ จะดำเนินการจัดวางกำลังพลใหม่ในช่วงไม่กี่วันและไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าการเคลื่อนไหวออกจากอิรักจะดำเนินการในแนวทางที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งเจ้าหน้าที่กลาโหมของอิรักและสหรัฐฯต่างออกมายืนยันว่ามันเป็นจดหมายจริง

สหรัฐฯมีทหารประจำการอยู่ในพื้นที่ต่างๆของประเทศอิรักราว 5,200 นาย

อย่างไรก็ตาม ต่อมานาย มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม  ออกมาแก้ลำว่า จดหมายดังกล่าวเป็นเพียงฉบับร่างที่ไม่มีการลงนาม และความจริงก็คือมันไม่ควรถูกส่งออกไป  ถือเป็นความผิดพลาดอย่างแท้จริง  

 

นักวิเคราะห์ระบุว่า รัฐสภาอิรัก ผ่านมติเรียกร้องให้รัฐบาลขับไล่กองกำลังต่างชาติทั้งหมดออกจากแผ่นดินอิรักแล้วก็จริง แต่มติลักษณะนี้ไม่ได้มีผลบังคับให้รัฐบาลต้องทำตาม อีกทั้งยังต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน  แต่ถ้าถามถึงท่าทีของผู้นำรัฐบาลอิรัก  มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เขาน่าจะสนับสนุนมติของรัฐสภาเพราะก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีของอิรักเอง เคยออกมาเรียกร้องให้สภาลงมติขับไล่ทหารต่างชาติออกไปให้เร็วที่สุดมาแล้ว

 

ทั้งนี้ มีทหารอเมริกันประจำในอิรักราว 5,200 นาย โดยระบุเหตุผลเพื่อสนับสนุนฝึกอบรมกองทัพอิรักในการป้องกันไม่ให้ไอเอสฟื้นคืนชีพ และเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพันธมิตรที่รัฐบาลอิรักเชื้อเชิญให้ไปช่วยขับไล่ไอเอสเมื่อปี 2557 รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ยังกล่าวด้วยว่า เขาเชื่อว่าประชาชนของอิรักยังคงต้องการให้ทหารสหรัฐประจำการอยู่ในประเทศต่อไป หลังจากที่อยู่มาแล้ว 17 ปีนับตั้งแต่ที่กองกำลังสหรัฐฯบุกอิรักในปี 2546 เพื่อโค่นอำนาจซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำเผด็จการของอิรัก “ชาวอิรักรู้ดีว่า สหรัฐฯเข้ามาเพื่อช่วยให้ประเทศของพวกเขามีอธิปไตย เป็นอิสระ และมีความเจริญรุ่งเรือง”

 

ขณะเดียวกัน สื่อต่างประเทศรายงานว่า สหรัฐอเมริกาได้ส่งกองเรือ Bataan Amphibious Readiness Group จำนวน 3 ลำเข้าสู่อ่าวเปอร์เซีย พร้อมด้วยนาวิกโยธินอีก 2,200 นาย และหน่วยเฮลิคอปเตอร์ หลังจากที่ได้ส่งทหาร 3,500 นายจากกองทัพอากาศไปยังคูเวตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

  กองเรือ Bataan Amphibious Readiness Group ของทัพเรือสหรัฐฯในอ่าวเปอร์เซีย