ผวาบาทแข็งหลุด30 กูรูเตือนแบงก์ชาติ-เอกชนตั้งการ์ดลดเสี่ยง

08 ม.ค. 2563 | 00:00 น.

วงในการเงินสวน รัฐ-เตือนแบงก์ชาติ-ผู้ประกอบการอย่าย่ามใจ! ชี้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อ จากปัจจัยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเฟดปรับดอกเบี้ย “อุตตม” ยัน คลังและธปท.ยังไม่เข้าแทรกแซง


การเคลื่อนไหวของเงินบาทในรอบปี 2562 เงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ปิดที่ระดับ 29.97 บาทต่อดอลลาร์หรือภาพรวมแข็งค่าสูงสุดกว่า 8% เมื่อเทียบกับปี 2561 สร้างความกังวลต่อหลายฝ่ายที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะความเป็นห่วงจะกระทบต่อภาคส่งออกของไทยมีปัญหามากขึ้น

แหล่งข่าววงในจากสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ในรอบปี 2562 การเคลื่อนไหวของเงินบาทภาพรวมที่แข็งค่ากว่า 8% นำทุกสกุลเงิน ส่วนหนึ่งเกิดจากไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งสามารถบริหารจัดการได้ แต่หน่วยงานกำกับและผู้ประกอบการไม่ระมัดระวัง โดยฝ่ายกำกับย่ามใจว่าจะมีเครื่องมือกำกับ แต่กลับไม่ทันสถานการณ์ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการลังเลในการป้องกันความเสี่ยง หวังว่าจะเรียกร้องให้ธปท.เข้าแทรกแซง แทนที่จะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ดังนั้น ในระยะข้างหน้า ตลาดเงินตลาดทุนยังคงผันผวน แม้จะมีการจัดตั้งบอร์ดขึ้นมาดูแลค่าเงิน แต่เชื่อว่าเป็นเพียงการตั้งบอร์ดซ้ำซ้อนเหมือนหน่วยงานอื่น ที่มีปัญหาจะเลือกแนวทางตั้งบอร์ดโดยไม่มีผลต่อเสถียรภาพของค่าเงินแต่อย่างใด

 

เกินดุลบัญชีฉุดบาทแข็ง

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดเงินไตรมาสแรกปี 2563 จะต้องติดตามเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทย ว่าจะมีทิศทางอย่างไร ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลต่อค่าเงินหลักๆ ได้แก่ 1.การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลของไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักต่อค่าเงินบาทต่อเนื่องจากปีก่อน 2. ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาไม่ดีตามคาด อาจเห็นเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในช่วงข้างหน้า ซึ่งจะกดดันดอลลาร์สหรัฐฯ

“หากเห็นตัวเลขเศรษฐกิจแย่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการใช้เครื่องมือด้านนโยบายการเงินคงมีผลจำกัดโดยช่วยได้ในทางอ้อมคือ กระตุ้นให้คนนำเงินออก แต่นโยบายการเงินไม่มีผลทางตรงที่จะทำให้เกิดการนำเข้า ซึ่งปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดการลงทุนขึ้นอยู่กับความชัดเจนเศรษฐกิจโลก หรือทิศทางการค้าโลกและเศรษฐกิจไทยด้วย ถ้านักลงทุนไม่มั่นใจหรือมีความกังวลจึงยังไม่มีการลงทุน”

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทมีโอกาสหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ คาดกว่าครึ่งปีแรกเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 29.70 บาทต่อดอลลาร์ และปลายปีอาจจะอยู่ที่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทในครึ่งปีแรกจะเคลื่อนไหวในกรอบ 29.75-30.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

 

เห็นเงินไหลออกมากขึ้น

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุถึงทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น ฉะนั้นทิศทางตลาดเงินอาจจะมีไหลกลับออกไป และอาจไหลออกมากกว่าปีก่อนที่มีเงินไหลออกตลาดหุ้นสุทธิ 45,000 ล้านบาทและตลาดพันธบัตรประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยเฉพาะปีนี้ปัจจัยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะลดลงเหลือ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีที่แล้วที่เกินดุล 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงคิดว่ามีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่า โดยครึ่งปีแรกเงินบาทอาจเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ครึ่งปีหลังเงินบาทอาจทะลุ 31 บาทต่อดอลลาร์ได้

“สถานะ Safe Haven อาจจะสั่นคลอนพอสมควร เพราะตลาดเงินมีโอกาสพลิกกลับอ่อนค่า แต่ในเชิงจิตวิทยาเงินบาทแข็งค่าและวิ่งทางเดียวขาเดียวมาเกือบ 2 ปีแล้ว ถ้าวิ่งขาเดียวต่อเนื่องหลายปีก็มีความเสี่ยงสูง โดยมองครึ่งปีหลัง เงินบาทน่าจะมีความชัดเจนและเศรษฐกิจโลกในบางประเทศที่พัฒนาแล้วอาจฟื้นตัวได้เร็ว”

อย่างไรก็ตามเนื่องจากทิศทางค่าเงินยังผันผวน ทั้งผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าต้องชั่งนํ้าหนักว่าจะล็อกกำไรหรือต้นทุนมากขนาดไหน เพราะการแข็งค่าทุก 1% มีผลกระทบความสามารถในการทำกำไรหายไปทันที 1%

ผวาบาทแข็งหลุด30  กูรูเตือนแบงก์ชาติ-เอกชนตั้งการ์ดลดเสี่ยง

เงินบาทอ่อนรับศักราช

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยกสิกรไทย ระบุการเคลื่อนไหว ของเงินบาท ว่า 2 วันทำการแรกที่ผ่านมาเงินบาทเปิดตลาดที่ 30.12-30.14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแต่ละสกุลเงินทยอยอ่อนค่า แต่เงินเยนกลับแข็งค่าและราคานํ้ามันปรับเพิ่มขึ้น จากแรงหนุนเหตุการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง แต่เป็นความเสี่ยง ที่ส่งผลให้สกุลเงินอื่นในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่า รวมทั้งเงินบาทที่เคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังหลังธปท.ส่งสัญญาณดูแลใกล้ชิด

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตลาดเงินยังไม่มีปัจจัยกดดันการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. เนื่องจากเริ่มเห็นทิศทางเงินบาทอ่อนค่าลงมา โดยเงินหยวนอ่อนค่า 0.1% วอน อ่อนค่า 0.8% เงินบาท 0.6% สิงคโปร์ 0.6% เป็นต้น

“ปัจจุบันตลาดหุ้นสหรัฐฯยังทำนิวไฮด์ แต่ฝั่งเอเชียยังลุ่มๆ ดอนๆ ซึ่งต้องจับตาการลงนามข้อตกลงการค้าเฟส 1 ระหว่างจีนและสหรัฐฯในวันที่ 15 มกราคมนี้ ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีอาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนมาก แต่หากไม่เป็นไปตามคาดอาจส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจเป็นไปได้ที่จะเห็น เศรษฐกิจฝั่งเอเชียฟื้นตัว จากการ ดำเนินมาตรการกระตุ้นที่นำมาใช้”

 

คลังยังไม่แทรกแซงค่าบาท

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยอมรับเป็นห่วงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากมีผลกระทบกับภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยอยู่พอสมควร ที่ผ่านมาได้หารือกับธปท.อย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้กำชับให้ดำเนินการใดๆ เป็นพิเศษ เพราะเป็นหน้าที่ของธปท.ที่จะพิจารณาได้เอง

ส่วนมาตรการดูแลเพิ่มเติมนั้น กระทรวงการคลังและธปท.ยังมีช่องว่างที่จะดำเนินมาตรการได้ ทั้งด้านการเงินและการคลัง หากมีความจำเป็น แต่จะต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ต้องใช้ก่อน และยังไม่มีนโยบายใช้มาตรการทางภาษีในการดูแลค่าเงินบาทเพิ่มเติมในขณะนี้แน่นอน แต่จะเร่งจัดตั้งคณะกรรมการเสถียรภาพระบบการเงินขึ้นมาโดยเร็ว

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3537 วันที่ 5-8 มกราคม 2563