ลุ้นโปรเจ็กต์รัฐ-อสังหา  ปลุกธุรกิจก่อสร้างคึกคัก  

05 ม.ค. 2563 | 23:40 น.

ธุรกิจรับเหมาลุ้นการก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐและโครงการอสังหาฯกลับมาคึกคัก เผยปี 2562 ประมาณการเม็ดเงินลงทุนก่อสร้างกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ชะลอตัว เหตุการก่อสร้างภาคเอกชนทรงตัว

ในปี 2562 ที่ผ่านมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากนโยบายควบคุมสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัย ด้วยมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเท่าเทียม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวส่งผลต่อการซื้อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะสัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 3 ขึ้นไป โดยตลาดที่ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ ก็คือ ตลาดคอนโดมิเนียม ซึ่งในปีที่ผ่านมา ดีเวลอปเปอร์ปรับแผนเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ลดน้อยลงอย่างชัดเจน

ด้านการลงทุนก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งของภาครัฐ มีโครงการที่สามารถเปิดประมูลมีไม่มากนัก แม้โครงการที่ได้บริษัทผู้ชนะการประมูลโครงการเมกะโปรเจ็กต์ อีอีซี เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ผ่านมามีการลงนามเซ็นสัญญาแล้วแต่ภาคเอกชนยังไม่เข้าพื้นที่ ทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจที่ต่อเนื่องค่อนข้างชะลอตัว

วิจัยกรุงศรี โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้วิเคราะห์ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างว่า ช่วงไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนก่อสร้างอยู่ที่ประมาณ 3.48 แสนล้านบาท เติบโต 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2561 และช่วงที่เหลือของปี 2562 การก่อสร้างจะยังคงเติบโต ตามการก่อสร้างภาครัฐจากมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุน โดยเฉพาะงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในโครงการขนาดใหญ่ ขณะการก่อสร้างเอกชนยังคงทรงตัว ตามแนวโน้มการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มูลค่าก่อสร้างตลอดทั้งปีมีแนวโน้มเติบโต 3.9% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท ชะลอตัว เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งเติบโต 4.1%

 

 

ทั้งนี้ ปี 2562 งานก่อสร้างภาครัฐประเมินมูลค่าอยู่ที่ 7.49 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึง 5.8% ผลจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และรถไฟทางคู่ นอกจากนี้โครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี มีความคืบหน้า มีการลงนามในสัญญาการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3

ส่วนงานก่อสร้างภาคเอกชน คาดจะมีมูลค่า 5.65 แสนล้านบาท ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 1.6% มาจากงานก่อสร้างที่อยู่อาศัย (สัดส่วนประมาณ 56% ของงานก่อสร้างภาคเอกชน) ยังทรงตัวตามภาวะซบเซาของธุรกิจก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลลดลง เนื่องจากยอดอุปทานคงค้างยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม มีการก่อสร้างอาคารที่มิใช่ที่อยู่อาศัย เช่น อาคารพาณิชย์ และอาคารโรงงาน ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

จากผลกระทบต่อการหดตัวของการก่อสร้างได้กระทบต่อเนื่องถึงดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ตามทิศทางการปรับตัวลดลงของราคาเหล็กและปูนซีเมนต์ในตลาดโลก ขณะที่ราคาคอนกรีตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้คอนกรีตผสมเสร็จในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,537 วันที่ 5-8 มกราคม 2563

                ลุ้นโปรเจ็กต์รัฐ-อสังหา  ปลุกธุรกิจก่อสร้างคึกคัก