คำทำนาย‘กนง.’ กับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

05 ม.ค. 2563 | 02:20 น.

 

ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ 2563 ท่าม  กลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและต่างประเทศคอยรุมเร้า ผู้เขียนจึงขอนำรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือที่เรียกกันติดปากว่า กนง. หนึ่งในคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศ ไทย หรือแบงก์ชาติที่รับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของประเทศ ที่ประชุมกันครั้งล่าสุดและเพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 มานำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านเตรียมพร้อมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

รายงานฉบับนี้ประเมินว่าในปี 2563 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในระยะต่อไป รวมถึงสหรัฐฯ มีโอกาสปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ในอนาคต ขณะที่ความไม่แน่นอนกรณีอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป รวมไปถึงสถานการณ์การประท้วงในประเทศต่างๆ ที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกันและเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น ก็เป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ที่ต้องติดตาม

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวตํ่ากว่าศักยภาพที่ปกติจะขยายตัวเฉลี่ย 2.5-4% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.5% ในปี 2562 และ 2.8% ในปี 2563 ส่วนปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามโครงการ PPP และโครงการลงทุนของภาครัฐบางโครงการที่เลื่อนไปดำเนินการในปี 2564

รายงานฉบับนี้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าคณะกรรมการกนง. ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเห็นว่า แม้ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแต่ภาคการส่งออกไทยอาจได้รับผลดีไม่เต็มที่ เนื่องจากปัจจัยเชิงโครง สร้าง เช่น ปริมาณการค้าโลกส่วนหนึ่งปรับดีขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนทางการค้ากับไทย น้อย และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตส่งผล กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย

 

คำทำนาย‘กนง.’  กับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย


 

 

กนง.ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของการจ้างงานที่ปรับลดลงในหลายภาคเศรษฐกิจและควรให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานที่จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป เช่น การใช้ระบบการผลิตอัตโนมัติทดแทนแรงงาน (automation) การปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานจากงานประจำเป็นการจ้างงานชั่วคราว รวมถึงความท้าทายของการพัฒนาทักษะเดิม (upskill) และการเสริมทักษะใหม่ (reskill) ของแรงงาน

อีกประเด็นสำคัญที่กนง.กังวลคือ การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แม้จะแข็งค่าชะลอลงและเคลื่อน ไหวทั้ง 2 ทิศทางมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะภาคการผลิตและการจ้างงานในภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก รวมถึงผลกระทบต่อกำไรและสภาพคล่องของธุรกิจ และความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งด้อยลงในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ จากการส่งออก

รายงานฉบับนี้ยังส่งสัญญาณเตือนให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เช่น ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

 

นอกจากนี้ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่มีแนวโน้มด้อยลงในภาวะเศรษฐกิจ ชะลอตัว โดยเฉพาะหากมีปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่กระทบรายได้เพิ่มเติม ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะส่งผลให้ครัวเรือนสะสมความเปราะบางมากขึ้น รวมไปถึงพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะอัตราดอกเบี้ยตํ่า ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงตํ่ากว่าที่ควรโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และสหกรณ์ออมทรัพย์ และความเสี่ยงในอสังหาริมทรัพย์จากอุปทานคงค้างในบางพื้นที่

ถึงตรงนี้พอจะเห็นภาพ กันบ้างแล้วว่าในปี 2563 จะต้องปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,537 วันที่ 5-8 มกราคม 2563

คำทำนาย‘กนง.’  กับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย