COOLLiving เน้นธรรมชาติสร้างธุรกิจยั่งยืน

05 ม.ค. 2563 | 07:45 น.

COOLLiving (คูลลิฟวิ่ง) คือแบรนด์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดย “สาริศา ปิ่นทอง” อดีตแอร์โฮสเตส ซึ่งปัจจุบันยังคงสามารถยืนหยัดอยู่บนเส้นทางสายธุรกิจได้อย่างภาคภูมิ ด้วยวิสัยทัศน์ และกรอบในการสร้างธุรกิจที่ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มต้น  ทำให้สามารถสื่อสารถึงผู้บริโภคในตลาดได้  จนนำมาสู่ความสำเร็จ

 COOLLiving เน้นธรรมชาติสร้างธุรกิจยั่งยืน

สาริศา ที่ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น กรรมการฝ่ายบริหารทั่วไป  บริษัท คนดี กรุ๊ป จำกัด บอกกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า COOLLiving เป็นแบรนด์ที่มุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “หมอนร้อยปี” ซึ่งทำมาจากวัสดุเปลือกโซบะธรรมชาติ  โดยไม่ผ่านกระบวนการทางเคมีในการผลิต รวมถึงการทำความสะอาดที่ใช้เทคนิคธรรมชาติจากญี่ปุ่น  พร้อมสมุนไพรไทยและไม้หอมนานาชนิด และถุงหมอนจากฝ้ายออร์แกนิก 100% ซึ่งมีที่มาที่ไปจากการที่ตัวเธอมีโอกาสเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง  ทำให้ได้พบกับหมอนที่นอนแล้วไม่ปวดคอ  และไปพบหมอนรูปแบบดังกล่าวนี้อีกครั้งที่สหรัฐอเมริกา โดยมีวางจำหน่ายอยู่บนช่องทางออนไลน์

 COOLLiving เน้นธรรมชาติสร้างธุรกิจยั่งยืน

ทั้งนี้ ตัวเธอจึงเริ่มสนใจและสงสัยว่าหมอนดังกล่าวทำมาจากอะไร โดยนำไปสู่การสืบค้นข้อมูลจนพบว่าเป็นหมอนจากวัสดุธรรมชาติที่คนญี่ปุ่นใช้มาเป็นเวลา 100 ปี  ซึ่งมีสรรพคุณในการให้ความเย็นกับศีรษะทำให้นอนหลับสบาย  เหมาะกับช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน  โดยคิดว่าน่าจะนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย  แต่ด้วยความที่จบการศึกษาทางด้านการตลาดมา และต้องการที่จะลดต้นทุน เธอจึงเลือกที่จะทำตลาดด้วยตนเองด้วยการสร้างแบรนด์ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่าหมอนร้อยปีภายใต้แบรนด์ “COOLLiving”

อย่างไรก็ตาม  หลังจากนั้นจึงทยอยมีผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นตามมา ไม่ว่าจะเป็นที่นอนซึ่งทำจากใยฝ้าย  ซึ่งห่อหุ้มด้วยการใช้ผ้าทอมือ  และการย้อมสีแบบธรรมชาติ, สเปรย์สมุนไพรกำจัดไรฝุ่น และเครื่องสำอางทั้ง ครีมกันแดด, เจลอาบนํ้าแชมพูสระผม เป็นต้น  เรียกว่าครบวงจรตั้งแต่ห้องนอนจนถึงห้อง
อาบนํ้าและห้องแต่งตัว  โดยมีช่องทางการจำหน่ายผ่านทางคูลลิฟวิ่งช็อปกว่า 10 สาขา ตัวแทนจำหน่าย บัตรเครดิต และออนไลน์

 

เพิ่มช่องทางการจำหน่าย

สาริศา บอกต่อไปอีกว่า กลยุทธ์ในการทำตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้า และเพิ่มรายได้ในระยะถัดไป  แบรนด์จะหันมามุ่งเน้นการทำตลาดผ่านออนไลน์มากขึ้นผ่านทางเฟซบุ๊ก  รวมถึงมีการซื้อโฆษณาบนช่องทางดังกล่าว  อีกทั้งยังจะดำเนินการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เช่นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่าง เลมอนฟาร์ม และผ่านทางเคทีซียูชอป เพื่อให้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางบัตรเครดิต โดยมองว่าเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน ซึ่งลูกค้าที่มีบัตรเครดิตจะค่อนข้างเป็นผู้ที่มีอำนาจการใช้เงินในระดับหนึ่ง  ทำให้ค่อนข้างตรงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

นอกจากนี้  แบรนด์ยังมีการต่อยอดผลตภัณฑ์ไปสู่การนำเสนอลิปสติกที่ทำจากธรรมชาติ  โดยจะเป็นสีที่ทำมาจากสมุนไพร  ซึ่งแบรนด์มองว่าลิปสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ใช้จะต้องรับประทานเข้าไปทุกวันเวลาใช้งาน หากมีผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติน่าจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยมากกว่า อย่างไรก็ดี  แบรนด์ยังต่อยอดไปสู่การสร้างฟาร์มปลูกผักออร์แกนิก พร้อมที่พักแบบโฮมสเตย์ ที่เน้นความเป็นธรรมชาติ  โดยมีผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ไว้ให้ผู้เข้าพักได้ใช้  ภายใต้ชื่อ คูลลิฟวิ่งฟาร์มเฮ้า (Coolliving Farmhouse) 

ขณะที่ตลาดต่างประเทศนั้น  แบรนด์มองการขยายตลาดไปยังประเทศญี่ปุ่น  และประเทศในแถบทวีปยุโรปเพิ่มเติม จากเดิมที่มีการทำตลาดอยู่แล้วที่มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฮ่องกง, ไอซ์แลนด์  และสหรัฐฯ  ในรูปแบบของการมีตัวแทนจำหน่าย  และการรับจ้างผลิต (OEM) โดยที่ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ของเราเอง  เพราะเราไม่ได้อยู่ในยุคของการเป็น OEM ที่สู้กันด้วยต้นทุนแล้ว  ต้องสู้กันด้วยแบรนด์ และภาพรวมทั้งหมด

“การออกบูธที่ต่างประเทศไม่ใช่ว่าไปเพียงแค่ปีเดียวแล้วจะได้ลูกค้ากลับมาเลย  เอสเอ็มอีจะต้องไปซํ้าเพื่อตอกยํ้าให้ลูกค้าได้เห็นและได้รู้จักแบรนด์  แต่สุดท้ายแล้วลูกค้าหลัก หรือลูกค้าประจำก็คือลูกค้าที่มา พบเจอผลิตภัณฑ์ของเราที่ไทยได้เห็นศักยภาพของแบรนด์ และประทับใจ โดยเกิดแนวคิดว่าจะสามารถนำผลิตภัณฑ์ของเราไปต่อยอดได้”  


 COOLLiving เน้นธรรมชาติสร้างธุรกิจยั่งยืน

 

 

 

แนะเอสเอ็มอีเพิ่มแขนขา

สาริศา บอกอีกว่า แนวโน้มของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก  เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าวในต่างประเทศมีมานานประมาณ 10-20 ปี  ขณะที่ในประเทศไทยเพิ่งเริ่มได้รับความนิยมเมื่อไม่นานนัก ในปัจจุบันมีผู้ที่สนใจเข้ามาตลาด  หรือมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด  โดยต้องการแนะนำเอสเอ็มอี ด้วยกันว่า เราคนเดียวคงไม่เก่งได้ทุกอย่าง จะต้องมองหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านอื่นเข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อเติมเต็มให้กลายเป็นบริษัทใหญ่และเติบโตได้

 COOLLiving เน้นธรรมชาติสร้างธุรกิจยั่งยืน  COOLLiving เน้นธรรมชาติสร้างธุรกิจยั่งยืน

“เอสเอ็มอีต้องไม่หยุดอยู่ที่ความคิดแบบเดิมที่เราจะต้องเก่งไปหมดทุกอย่าง  โดยตนก็เคยผ่านจุดที่ทำอะไรด้วยตนเองทั้งหมดมาก่อน ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เอสเอ็มอีทุกรายจะต้องผ่านมาก่อน  เพื่อทำให้ได้รู้จักกับผลิตภัณฑ์ของตนเอง  และลูกค้าตั้งแต่ช่วงแรกที่ทำอย่างแท้จริง  แต่เมื่อเริ่มโตไปได้สักระยะหนึ่งจะต้องมีแขนขา โดยการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆเข้ามาช่วย  หรือต้องแชร์เครือข่ายกัน โดยที่เราจะต้องเป็นผู้คุมภาพรวม และแน่วแน่ในพันธกิจของบริษัทว่าจะต้องออกมาในรูปแบบใดให้อยู่ภายในกรอบที่กำหนด  หรืออาจจะมีกรอบที่กว้างขึ้นหน่อย หากยังไม่โตพอ  แต่เมื่อแกร่งพอแล้วก็อาจจะบีบกรอบเข้ามาเพื่อให้ชัดเจนมากขึ้น” 

สาริศา บอกต่อว่า แบรนด์ทำธุรกิจโดยยึดหลักของเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งรู้ว่ารายได้ของแต่ละปีเป็นอย่างไร และที่ผ่านมาก็ไม่ได้เติบโตขึ้น  โดยขณะนี้แบรนด์อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกของโซเชียล เป็นช่วงของการปรับตัว  ซึ่งเมื่อมองไปยังปัจจัยต่างๆแล้ว  หากปีหน้ายอดขายไม่ตกลงก็ถือว่าดีในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจากการที่แบรนด์นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่  รวมถึงเพิ่มช่องทางการทำตลาด และการทำฟาร์มก็น่าจะทำให้รายได้เติบโตขึ้น โดยมองว่าจะเป็นการวางรากฐานทางธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

 COOLLiving เน้นธรรมชาติสร้างธุรกิจยั่งยืน

“แบรนด์ยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผักที่ปลูกจากฟาร์ม  โดยอาจจะนำโครงการไปนำเสนอเพื่อขอทุนวิจัยและพัฒนา จากองค์กรของภาครัฐที่ให้การสนับสนุน  ซึ่งมีอยู่มากมายแต่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้  โดยถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญของธุรกิจที่เอสเอ็มอีจะต้องขวนขวายเพื่อหาประโยชน์ให้กับตนเอง” 

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3537 วันที่ 5-8 มกราคม 2563