“สรรพากร”จ่อถกอปท. ไล่บี้ภาษีบ้าน-คอนโดให้เช่าทั่วปท.

02 ม.ค. 2563 | 07:01 น.

กรมสรรพากร จ่อถก อปท. องค์กรท้องถิ่น ขอข้อมูลสำรวจคนปล่อยเช่าบ้าน-คอนโดทั่วประเทศ หวังลดปัญหาการเลี่ยงภาษีและต้อนเข้าระบบ

 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมจะเร่งประสานความร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาล อบต. กรุงเทพมหานคร และพัทยา เพื่อขอเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการลงไปสำรวจทั่วประเทศตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาใช้ตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้ของแต่ละคน โดยเฉพาะการดูว่ามีการนำรายได้จากการปล่อยเช่าบ้าน เช่าคอนโดมิเนียม เช่าที่ดิน มาคำนวณเป็นเงินได้ เสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่

 “สรรพากร”จ่อถกอปท. ไล่บี้ภาษีบ้าน-คอนโดให้เช่าทั่วปท.
    
“การประสานงานกับอปท. ก็เพื่อให้ได้ข้อมูลผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทุกราย โดยจะขอข้อมูลจากอปท.และส่งเจ้าหน้าที่ของกรมลงไปสำรวจในพื้นที่ต่างๆ ว่าผู้ให้เช่าระหว่างบุคคลธรรมดา หรือให้เช่านิติบุคคล โดยจุดประสงค์หลัก ไม่ได้ไปสำรวจและไล่บี้ให้กลุ่มนี้มายื่นแสดงรายได้ เพื่อเสียภาษีมากขึ้นหรือหารายได้จากส่วนนี้มากขึ้น แต่ต้องการให้เข้ามาอยู่ในระบบเท่านั้น เพราะการเข้าอยู่ในระบบภาษีของทุกคนเป็นเรื่องที่ต้องทำ”

 

 

ทั้งนี้ตามปกติผู้มีรายได้จากการปล่อยเช่าบ้าน เช่าที่ดิน และเช่าคอนโดฯ จะต้องนำค่าเช่ามาคำนวนเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีทุกปีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาก็ยอมรับว่ามีบางส่วนยังหลบเลี่ยงอยู่ แต่ในขณะนี้ เมื่อ อปท.ลงไปสำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างละเอียด ก็จะรู้ว่าพื้นที่ไหนใช้ประโยชน์แบบใด ใครปล่อยให้เช่า ใครใช้พักอาศัยจริง หรือใช้ค้าขายเชิงพาณิชย์ 
   “สรรพากร”จ่อถกอปท. ไล่บี้ภาษีบ้าน-คอนโดให้เช่าทั่วปท.
โดยกรมจะขอเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้มาใช้วิเคราะห์ร่วมกับฐานข้อมูลการเก็บภาษีอื่นๆ เช่น หากใครมีเงินโอนเข้าบัญชีทุกต้นเดือนเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งตรงกับข้อมูลของอปท.ว่าคนนี้มีบ้านให้เช่า 1 หลัง ก็จะไปตรวจดูเป็นเงินค่าเช่าจริงหรือไม่ และนำเงิน 5,000 บาทมาคิดเป็นรายได้เพื่อภาษีอยู่หรือเปล่า หากทำถูกต้องก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากหลีกเลี่ยงไม่เคยนำมาคิดเป็นเงินได้เลย ก็ต้องถูกลงโทษเข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ลดปัญหาหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้น้อยลงได้

ทั้งนี้ตามก.ม.จะยกเว้นให้กับที่อยู่อาศัยหลังแรกที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินจะเสียล้านละ 200 บาท หลังที่ 2 จะต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก และหากเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าจะต้องเสียภาษีในอัตราล้านละ 3,000 บาท