รัฐ-เอกชนประสานเสียง SMEs ต้องเร่งความเร็วก้าวสู่โลกยุคใหม่

02 ม.ค. 2563 | 10:30 น.

 

 

แรงกระเพื่อมจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า ผลกระทบจากค่าเงินผันผวน และการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเหมือนคลื่นยักษ์ที่เข้ามามีบทบาททุกกลุ่มอุตสาหกรรม จากผลกระทบดังกล่าวเขย่าสถานะการผลิตชัดเจน ยิ่งบริษัทขนาดใหญ่ชะลอการส่งออก ยอดขายลดฮวบลงเพราะสงครามการค้า กระทบเป็นลูกโซ่ถึง กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เปรียบเสมือนเป็นแขนขาให้ผู้ผลิตรายใหญ่ ในฐานะผู้ป้อนชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบในแต่ละสาขาอุตสาหกรรม

ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนอะไรในปี 2563 และต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร ฟังเสียงจาก 3 กูรู  “กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์” ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ในฐานะองค์กรสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ผลักดันเปิดตลาดส่งออกไปยังเมียนมา หลังจากที่สินค้าไทยหลายรายการได้รับความนิยม

“โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยผู้ที่คลุกคลีอยู่กับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสมาชิกทั่วประเทศมากกว่าแสนราย รับรู้ปัญหา อุปสรรคของเอสเอ็มอีเป็นอย่างดี และนายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะองค์กรรัฐ ผู้สนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของเอสเอ็มอีไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

เตรียมตัวรับกำลังซื้อฝืด

กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา มองว่าปี 2563 ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน (Consumption) ที่ค่อนข้างจะฝืดเคือง สืบเนื่องจากการลงทุนที่ลดลง อันเนื่องจากปัญหาค่าแรงสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค อีกทั้งเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทำให้ส่งผลถึงปัจจุบันและในปี 2563 ดังนั้นโจทย์ยากที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะต้องหาช่องทางเอาตัวรอดกันให้ได้ ซึ่งหากไม่ระมัดระวังโอกาสจะประสบปัญหาหนักเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ส่วนจะฝ่าวิกฤติด้านต่างๆ ไปได้นั้น ถ้าไม่สามารถขยายกำลังผลิต หรือเพิ่มผลกำไรได้ ก็ต้องรัดเข็มขัดให้ได้ เป็นการลดลดต้นทุน ส่วนการวิ่งหาตลาดใหม่เพิ่มก็ไม่ง่าย เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัว แต่อาจใช้จังหวะที่เศรษฐกิจไม่ดีหันไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยในการเพิ่มยอดขาย ส่วนของค่าแรงงานที่สูงขึ้น ต้องแก้ไขด้วย การเพิ่มความสามารถในการผลิต (Productivity) ด้วยการพัฒนา แรงงานของตนด้วยการอบรมและให้ความรู้ความสามารถและทักษะของแรงงาน เพื่อลดค่าแรงงานที่สูงขึ้นให้ได้

รัฐ-เอกชนประสานเสียง  SMEs ต้องเร่งความเร็วก้าวสู่โลกยุคใหม่

กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อย่างไรก็ตามในปี 2563 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ได้ และและต้องเร่งในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ตลาดถูกรุกรานจากภายนอก การค้าข้ามพรมแดนด้วยระบบไอทีหรือ E-Commerce ได้เข้ามาสู่ตลาดไทยแล้ว ในปี 2563 จะยิ่งเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเอสเอ็มอีไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจให้ได้

 

อย่ามัวกังวลว่าปี63เผาจริงหรือเก็บกระดูก

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมองว่าปี 2563 โจทย์สำคัญอันดับแรกคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องเปิดตัวเองให้เรียนรู้โลกที่เปลี่ยนโดยเฉพาะรูปแบบการค้าขาย หาโอกาส และเปิดทัศนคติ จะเป็นด่านแรกให้ก้าวไปสู่เส้นทางที่พร้อมปรับตัวในโลกยุคแปรผัน

ส่วน pain points หลักของ เอสเอ็มอี ก็ยังอยู่ที่ 1. แหล่งเงินทุน 2. องค์ความรู้ นวัตกรรม และ 3. ความคิดสร้างสรรค์ ทั้ง 3 ด้านยังต้องช่วยกันส่งเสริมให้ก้าวหน้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาอย่างตั้งใจจริง และลงลึกอย่างต่อเนื่อง

รัฐ-เอกชนประสานเสียง  SMEs ต้องเร่งความเร็วก้าวสู่โลกยุคใหม่

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ

“การฝ่าวิกฤติปี 2563 ไปให้ได้นั้น ต้องมองให้ไกล และพุ่งเป้าไปให้ถึง อย่ามัวกังวลว่าปี 63 เผาจริงหรือเก็บกระดูก มันจะมีประโยชน์น้อยกว่ารู้เขา รู้เรา เข้าใจโลก ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังมองภาพการทำงานวันต่อวัน เดือนต่อเดือน ปีต่อปี ขาดการวางแผนที่ดี”

อย่างไรก็ตามการปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องก้าวไปทีละขั้นและพร้อมจะปรับเปลี่ยนตัวเองเสมอ เมื่อมีปัจจัยที่เข้ามาใหม่ บางครั้งก็ต้อง 1. Distrupt ตัวเองก่อนหมดโอกาส 2. Digital Centricต้องพัฒนาตนเอง คนในองค์กร และเครื่องมือในองค์กรให้เข้าใจ และพร้อมก้าวไปในโลกดิจิทัล รู้จักนำดิจิทัลมาเพิ่มศักยภาพการทำงานทุกระดับ ลดต้นทุนทั้งทางตรงทางอ้อม ให้สู้คู่แข่งได้ การแข่งขันไม่ใช่ในประเทศแล้ว ระบบเศรษฐกิจมันผูกโยงกับระดับโลกเชื่อมกันหมด 3. Networking and Connectivity ต้องเปิดตัว ตามสุภาษิตไทยเราว่า “คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย” หรือให้มองว่า “สามคนสบาย” บ่อยครั้งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจมอยู่กับปัญหา หาทางออกไม่ได้ ตรงนี้มองว่าหนทางย่อมมีอยู่เสมอ ต้องขยันพาตัวไปอยู่ใน Eco-System ที่ดี

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ฝากให้ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง สร้าง Eco-System หรือสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจของคนตัวเล็ก ให้ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นคล่องตัวขึ้น เข้าถึง องค์ความรู้ สิ่งอำนวยความสะดวก งานวิจัยและนวัตกรรม แหล่งเงินทุน มีระบบการพัฒนาและส่งเสริมต่อเนื่องยั่งยืนครบ 360 องศา รัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังมากขึ้น

 

เทคโนโลยีใหม่เร่งเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดด

ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกระแสความนิยมหลัก (Megatrends) ที่เกิดขึ้นจากกระแสต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) โลกเสมือนจริง (Virtual Reality) Internet of Things (IoT) ยุคแห่งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotization) สังคมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Society) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ส่งผลให้โลกที่เราอยู่ในวันนี้กำลังก้าวเข้าสู่ “โลกยุคใหม่” ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่จะเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด (Disruptive Technology) ดังนั้นเอสเอ็มอีจะต้องเร่งความเร็วในการก้าวสู่โลกยุคใหม่

รัฐ-เอกชนประสานเสียง  SMEs ต้องเร่งความเร็วก้าวสู่โลกยุคใหม่

ณัฐพล รังสิตพล

สอดคล้องกับข้อมูลการจัดลำดับประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ (Business Efficiency) พบว่า ประเทศไทยต้องเร่งยกระดับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะ เอสเอ็มอี ถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดของการประกอบกิจการในประเทศ และยังเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยสามารถสร้างรายได้ สร้างการจ้างงาน อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความยากจน จึงมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่การผลิตและเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปี 2561 พบว่า มีจำนวนเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย เกิดการจ้างงานกว่า 14 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) กว่า 43%

 

หวั่นขาดสมดุลและภูมิคุ้มกันที่ดี

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมองว่าโดยรวมแล้วผู้ประกอบการ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) มาตรฐาน (Standard) และนวัตกรรม (Innovation) เพื่อสร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่มอุตสาหกรรม จึงส่งผลให้โครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมไทยขาดความสมดุลและขาดภูมิคุ้มกันที่ดี

“หากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และอาจทำให้อุตสาหกรรมไทยไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการผลิตในปริมาณมาก (Mass Production) และต้องแข่งกับสินค้าราคาถูกในตลาดระดับล่างจากประเทศจีนและประเทศเวียดนาม”

 

 

 

 

แนะรีบปรับตัวนำระบบดิจิทัลมาใช้

ดังนั้นจะฝ่าวิกฤติด้านต่าง ๆ ไปได้จะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่รวดเร็วและรุนแรง ด้วยการนำระบบดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ (Digital Transformation) เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ ช่วยให้เกิดกระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจมีต้นทุนที่ตํ่าลงในขณะที่ประสิทธิภาพสูงขึ้น สร้างระบบการผลิตที่ฉลาด ซึ่งสามารถคาดการณ์ ประมวลผล วิเคราะห์ จัดการ ตรวจสอบ และควบคุม สำหรับสั่งการไปยังกระบวนการผลิตที่มีความเหมาะสมที่สุดได้อย่างอัตโนมัติ การผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด ไปจนถึงการผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการในรูปแบบ Production on Demand ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปริมาณมากได้ (Customized Mass Production)

 

รูปแบบธุรกิจเปลี่ยนตามเทคโนโลยี

จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกระแสความนิยมหลัก (Megatrends) ของโลกที่เกิดขึ้น และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การใช้ชีวิตที่เร่งรีบในชีวิตประจำวัน ชอบความสะดวกสบาย รวดเร็ว ทำให้มนุษย์หันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น จึงทำให้กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น ธุรกิจแพลตฟอร์ม โลจิสติกส์ ผู้รับจ้างทำงานต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น แพลตฟอร์มการซื้อสินค้าผ่านช่องทาง E-Commerce เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมองว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2565 ผู้สูงอายุที่เป็นโสดมีกำลังซื้อสูงขึ้น อีกทั้งผู้สูงอายุไทยในช่วง 60-69 ปีเกือบ 50% ยังคงทำงานหลังเกษียณ ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุที่ Young at Heart ที่ใส่ใจในสุขภาพและต้องการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันเพิ่มสูงขึ้น

รวมถึงกระแสความนิยมดูแลสุขภาพยังคงเติบโตต่อเนื่องในกลุ่ม Millennial กลุ่มคนอายุ 18-34 ปี และกลุ่ม Baby Boomers ที่มีอายุ 51-69 ปี โดยเน้นลดปริมาณนํ้าตาลและไขมันลง เพิ่มโปรตีนและใยอาหารในสัดส่วนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงทำให้กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจให้บริการรับ-ส่งเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ การเปิดศูนย์ธรรมชาติบำบัดสำหรับผู้สูงวัย ธุรกิจยารักษาโรคและผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ธุรกิจเครื่องสำอางหรือเวชภัณฑ์ต่อต้านริ้วรอยแห่งวัย (Anti-Aging) รวมทั้งกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น ธุรกิจอาหารสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นหากกลุ่มธุรกิจใดก็ตามที่ไม่พยายามปรับตัวให้ทันตามกระแสความนิยมหลัก (Megatrends) ของโลก อาจมีแนวโน้มที่ต้องเลิกกิจการ เนื่องจากสินค้าและบริการอาจตอบสนองไม่ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน จึงเป็นความท้าทายของเอสเอ็มอีในการปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,536 วันที่ 2 - 4 มกราคม พ.ศ. 2563