สรรพากร ดันเอสเอ็มอีปรับโครงสร้างหนี้ง่ายขึ้น

02 ม.ค. 2563 | 02:05 น.

กรมสรรพากร เตรียมออกมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ถูกคำนวณหนี้เป็นรายได้ เชื่อทำเอสเอ็มอีมีปัญหาฟื้นตัวเร็วขึ้น พร้อมหารือแบงก์ชาติ รวมกลุ่มเจ้าหนี้นอนแบงก์ด้วย

 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในปี 2563 กรมจะมีการออกมาตรการผ่อนปรนทางภาษี เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสีย ให้ปรับโครสร้างได้ง่ายขึ้น และมีต้นทุนถูกลง โดยแนวทางเบื้องต้นจะช่วยเอสเอ็มอีที่เป็นลูกหนี้ ไม่ต้องนำมูลหนี้ที่ถูกปรับโครงสร้างที่ลดลงมาคิดคำนวณเป็นรายได้ ขณะที่เจ้าหนี้ก็สามารถนำมูลหนี้ที่ปรับลดลงมาคิดเป็นรายจ่ายได้ นอกจากนี้ยังยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์สำหรับการโอนทรัพย์สินเพื่อการชำระหนี้ให้ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันเอสเอ็มอีจำนวนมากได้รับความเดือนร้อนจากเศรษฐกิจ จึงต้องสนับสนุนให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดต้นทุน กระตุ้นให้สถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้ เร่งช่วยปรับโครงสร้างหนี้ช่วยลูกหนี้ได้เร็วกว่าเดิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีแพ็คเกจใหญ่ ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่จะเสนอให้คลังและครม.พิจารณาในต้นปี 2563

อย่างไรก็ตามมาตรการภาษีนี้จะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้เฉพาะเอสเอ็มอีและรายย่อย รวมถึงครอบคลุมการให้บริการการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมถึงสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด(พิโกไฟแนนซ์) หรือไม่ ยังต้องพิจารณาอย่างละเอียด ซึ่งกรมกำลังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจะให้ครอบคลุมถึงกลุ่มนอนแบงก์ บัตรเครดิต และพิโก้ไฟแนนซ์ด้วย ซึ่งจะมีความชัดเจนต้นปี 2563 นี้

“ปกติเวลาลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เช่น เคยค้างหนี้และเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ จะถือว่าลูกหนี้มีรายได้เพิ่มจากการถูกลดหนี้ ซึ่งจะต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ ตอนยื่นแสดงภาษีเงินได้ประจำปี แต่จากนี้ไปกรมจะยกเว้นการนำเงินที่ได้จากการลดหนี้ของเจ้าหนี้มาคิดคำนวณเป็นรายได้ เพื่อช่วยลูกหนี้ที่เป็นทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ขณะที่เจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงินจะได้ให้นำส่วนเงินที่ลดหนี้ให้กับลูกหนี้ มาคำนวณเป็นรายจ่ายในการยื่นภาษีได้ทันทีไม่ต้องรอคำตัดสินของศาล รวมถึงเวลาโอนทรัพย์ชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งค่าใช้จ่าย การติดอากรแสตมป์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะเมื่อเวลาโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้แล้ว ตามหลักกฎหมาย ยังถือว่าเป็นการโอนเพื่อซื้อขายกันอยู่ ดังนั้นกรมจึงให้มีการยกเว้นภาษีต่างๆ เหล่านี้ให้หมดหากเป็นการโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้”นายเอกนิติ กล่าว