ภาษีที่ดิน คอนโดให้เช่าเฮ Airbnb ไม่รอด

31 ธ.ค. 2562 | 06:46 น.

ยังสับสนวุ่นวายกันถ้วนหน้า กับพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  ที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้  หลังก่อนหน้านั้นเจ้าของบ้าน -ห้องชุดคอนโดมิเนียมแตกตื่นกันทั่วกรุง เมื่อได้รับเอกสารใบแจ้งข้อมูลบัญชี (ภ.ส.ด.4) จาก กทม. เพื่อเสียภาษี 

ที่แบ่งลักษณะที่อยู่อาศัยไว้  3 ประเภทคือ อยู่อาศัยจริงเป็นบ้านหลัก (มีชื่อในทะเบียนบ้าน-ห้องชุด) อยู่อาศัยจริงเป็นบ้านรอง (แต่ ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน-ห้องชุด) และประเภทอื่น ๆ คือให้เช่าหรือเชิงพาณิชย์  ซึ่งทั้ง 3 แบบจะเสียภาษีต่างกัน ดังนั้นหากในใบแจ้งของกทม.ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เจ้าของกรรมสิทธิ์ บ้าน-ห้องชุดต้องรีบไปแสดงตัวแก้ไขที่สำนักงานเขตภายใน 15 วัน  

ภาษีที่ดิน คอนโดให้เช่าเฮ Airbnb ไม่รอด

ก่อนหน้านั้นจึงเกิดความสับสนอลหม่านไปทั่ว   บางคนเร่งโอนย้ายทะเบียนเพื่อให้ทันสิ้นปีก่อนที่กม.จะมีผลบังคับเพื่อได้รับยกเว้นการเสียภาษี แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาคือเรื่องการปล่อยเช่า การซื้อเพื่อลงทุน ซี่งจะต้องเสียภาษีในอัตราล้านละ 0.3 % หรือราว 3,000 บาท ที่เป็นข้อถกเถียงกันหนัก  บางคนจึงเร่งรีบโอนย้ายทะเบียน หรือไม่ก็ใส่ชื่อญาติพี่น้องเป็นเจ้าของเพื่อเลี่ยงภาษี ทำเอาวุ่นวายไปทั้งสำนักงานเขต
 

ปล่อยเช่ารายวันจ่ายล้านละ 3 พันบาท

แต่ในที่สุดเรื่องนี้กระจ่างขึ้นเมื่อปลัดกระทรวงการคลัง “ประสงค์ พูนธเน“ ออกมาสยบข่าว โดยระบุว่า ผู้ที่ได้รับเอกสารจากกทม.ไม่ต้องไปยืนยันที่สำนักงานเขต และการปล่อยเช่าไม่ต้องเสียภาษีในเชิงพาณิชย์ เพราะถือว่าเป็นการอยู่อาศัย ซึ่งหากเป็นบ้านหลักรองจ่ายแค่ล้านละ 200 บาทเท่านั้น 

หากให้เช่าเป็นรายวันแก่นักท่องเที่ยวในลักษณะของ Airbnb โฮลเทล โฮมสเตย์ อันนี้ต้องจ่ายภาษีในอัตราเชิงพาณิชย์ หรือล้านละ 3,000 บาท โดยระบุว่าได้มีการหารือกับกระทรวงมหาดไทย และองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้ว

ภาษีที่ดิน คอนโดให้เช่าเฮ Airbnb ไม่รอด

ด้านกทม.ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่นก็ออกมาระบุเช่นกันว่า การแจ้งเอกสารข้อมูลบัญชีห้องชุด (ภ.ด.ส. 4) ที่จัดส่งไปนั้น เป็นการทำตามขั้นตอนของกม. ซึ่งหากเจ้าของมีการถือครองสิทธิ์ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น บ้านหลัก บ้านรอง  หรือเชิงพาณิชย์ ขนาดพื้นที่ ไม่ตรงกับโฉนดที่ดิน สามารถมาแจ้งแก้ไขให้ถูกต้องที่เขตหรือสแกน QR code ได้ แต่ข้ามเขตไม่สามารถทำทางออนไลน์ได้ 

ภาษีที่ดิน คอนโดให้เช่าเฮ Airbnb ไม่รอด
เรื่องนี้จึงยังเท่ากับเป็นการสกัด และจัดระเบียบห้องเช่าแบบรายวัน ผิดก.ม.เข้าข่ายโรงแรมเถื่อนที่ยังไม่ได้แจ้งจดทะเบียนไว้กับนายทะเบียน ให้ไปดำเนินการถูกต้องตามกฏหมายอีกทางหนึ่งด้วย 

ที่ดินรกร้างยังสับสน 

แต่ปัญหาที่ยังสับสนหนักก็คือ  ซี่งต้องรอกฏหมายลูกอีก 8 ฉบับ ที่กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลังกำลังทำคลอด สร้างความปั่นป่วนให้กับคนไทยทั้งแผ่นดิน

ที่ขณะนี้เจ้าของที่ดินยังมีปัญหาว่าจะประเมินกันอย่างไร บางคนเอาตัวรอดไปก่อน อย่างเจ้าของที่ดินกลางกรุง 24 ไร่ ย่านรัชดาฯ มูลค่าเป็นหมื่นล้าน นำไปปลูกมะนาวเพื่อเลี่ยงการเสียภาษี พลิกที่ดินเปล่าย่านธุรกิจ ให้เป็นเกษตรกรรม เพื่อจะได้จ่ายภาษีถูกลง  ส่วนบรรดาเจ้าสัว ทั้งหลายก็ใช้ “แทคติก” โอนย้ายถ่ายเททรัพย์สินเพื่อเลี่ยงภาษีให้จ่ายน้อยลงไปก่อนหน้านั้นหมดแล้ว 

ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า ต้องปลูกกล้วยไม่ต่ำกว่า 200 ต้นต่อไร่ถึงจัดเป็นพื้นที่เกษตร บางกระแสก็ว่าต้องปลูกต้นไม้ พืชสวนเกษตรไม่ต่ำกว่า 15 ต้น ต่อไร่ถึงจะเข้าข่ายพื้นที่เกษตรกรรม แต่ทั้งหมดทั้งหลายยังไม่มีความชัดเจน เป็นเพียงการอนุมานเอาเท่านั้น 

โดยตามวัตถุประสงค์ของทำคลอดพ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา ก็เพื่อ ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน บีบให้เจ้าของแลนด์แบงก์นำที่ดินออกมาพัฒนา แต่ในความเป็นจริงบรรดาเจ้าสัวทั้งหลาย ต่างเลี่ยงภาษีไปล่วงหน้าแล้วเหลือแต่ชาวบ้านตาดำ ๆ คนชั้นกลางที่ “รับกรรม” 

คิดง่าย ๆ อย่างคนมีบ้าน 1 หลังราคาไม่ถึง 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษี แต่สำหรับคนชั้นกลาง ที่พอเก็บหอมรอบลิบไว้ได้บ้างก็เจียดเงินไปลงทุน ซื้อคอนโดไว้ปล่อยเช่า หวังรายได้ที่งอกเงยกว่าเงินฝากดอกเบี้ยในแบงก์สัก 2-3 ห้อง

แต่ต้องจ่ายภาษี ในอัตราเชิงพาณิชย์ 0.3 % หรือล้านละ 3,000 บาทเป็นภาระที่คนชั้นกลางต้องรับผิดชอบ ซึ่งจริงอยู่ที่คนมีรายได้ต้องจ่ายภาษี แต่คนรวยจริง ๆ กลับลอยลำ ความชอบธรรมอยู่ตรงไหน!! 

คอลัมภ์ : ตื้น-ลึก-หนา-บาง
โดย      : เรดไลออน