พลิกวิกฤติ เป็น โอกาส สร้างองค์กร พาธุรกิจ  STRONG

31 ธ.ค. 2562 | 01:00 น.

ปี 2562 ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประ เทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจหดตัวลงมาเหลือ 3% จาก 3.5% ซึ่งหนีไม่พ้นส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจของไทย มีการขยายตัวตํ่าลงที่ 2.6% จากที่คาดไว้ 2.7-3.2%

 

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่หดตัวลง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศ ต่างได้รับผลกระทบและบางธุรกิจสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะการส่งออกที่ชะลอตัว จากสงครามการค้าและการแข็งค่าของเงินบาท การปิดโรงงานและภาคบริการ เกิดผลกระทบต่อการว่างงานหรือแม้แต่ธุรกิจค้าปลีก ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ลดลง เป็นต้น

 

ขณะเดียวกันในปี 2562 แม้จะมีวิกฤติเกิดขึ้นในหลายธุรกิจ แต่ในทางกลับกันก็เป็นโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ๆ เติบโตหรือใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงองค์กร เพื่อ รับกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วหรือ ดิสรัปชัน

 

“เทรดวอร์”ทุบศก.ชะลอตัว

 

สงครามการค้าสหรัฐ อเมริกา-จีน 2 มหาอำนาจยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 และเบอร์ 2  ของโลก ที่เริ่มปะทุมาตั้งแต่ปี 2561 และต่อเนื่องมาถึงปี 2562 ที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีการขึ้นภาษีสินค้าตอบโต้กันมาหลายระลอก ครอบคลุมสินค้าหลายพันรายการ ผลพวงที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว (ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ล่าสุดเดือนตุลาคมเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 3% จากต้นปีคาดขยายตัวได้ 3.5%) ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่ในวิกฤติสงครามการค้าครั้งนี้ต้องเผชิญวิกฤติส่งออกไปจีนได้ลดลง จากหลายสินค้าไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนที่นำวัตถุดิบจากไทยไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อจีนส่งออกไปสหรัฐฯได้ลดลง จึงกระทบการส่งออกของไทยไปจีนลดลงตามไปด้วย

 

เห็นได้จากช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 การส่งออกของไทยไปจีนติดลบ 4.7% สินค้าที่ส่งออกได้ลดลงเช่น เม็ดพลาสติก ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น ขณะผลกระทบจากสงครามการค้า ผนวกกับเงินบาทที่แข็งค่ากระทบภาพรวมส่งออกไทยช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 ยังติดลบที่ 2.8% และคาดว่าทั้งปีจะติดลบที่ประมาณ 2%

 

ดึงนักลงทุนย้ายฐานผลิต

 

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง ถือเป็นโอกาส จากไทยได้อานิสงส์ส่งออกสินค้าบางรายการ ไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้น เช่น สินค้าเกษตรกรรม อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก ยานยนต์และส่วนประกอบ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องจักร เครื่องมือและส่วนประกอบ เหล็กและอะลูมิเนียม และของใช้ในบ้านและสำนักงาน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 ในภาพรวมยังขยายตัวถึง 11.4%

 

อีกทั้ง ยังเป็นโอกาสของประเทศไทยที่ผู้ประกอบการของจีนและสหรัฐฯเวลานี้ได้ขยายการลงทุนมายังอาเซียน ซึ่งรวมทั้งไทยเพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นฐานผลิตส่งออกไปสหรัฐฯและจีนเพื่อลดผลกระทบจากกำแพงภาษีสงครามการค้า แต่ทั้งนี้ต้องจับตา หากในอนาคตจีนเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานผลิตและส่งออกไปยังสหรัฐฯจนตัวเลขหลายสินค้าพุ่งขึ้นอย่างผิดหูผิดตา สหรัฐฯอาจมีไต่สวนเพื่อใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้ไทยได้

 

บาทแข็งฉุดส่งออกวูบ

 

ขณะที่ค่าเงินบาท ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงปี 2562 โดยเงินบาทแข็งค่ามาแล้ว 8.0% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 32.55 บาท แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 30.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 แข็งค่านำโด่งทุกสกุลเงินในภูมิภาค รองลงมา ได้แก่ สกุลเงินรูเปีย อินโดนีเซีย แข็งค่า 4.2% เปโซฟิลิปปินส์ 3.7% ดอลลาร์ไต้หวัน 1.8% ปอนด์สเตอร์ลิง 1.8% และริงกิตมาเลเซีย 0.3%

 

จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกระทบโดยตรงกับการส่งออกของไทย ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้รายได้จากการส่งออกหายไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ทำให้การส่งออกของไทย ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศที่รวมในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ช่วง 11 เดือนของปี 2562 (มกราคม-พฤศจิกายน 2562) มีมูลค่าเพียง 19,657 ล้านบาท ติดลบถึง 7.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ผลกระทบโดยตรงจากการแข็งค่าของเงินบาท คือ กลุ่มที่มีรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก กลุ่มคนที่ทำงานต่างประเทศและผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีรายรับเป็นเงินตราต่างประเทศ เพราะเมื่อนำรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจะได้เงินบาทน้อยลง

 

นำเข้าวัตถุดิบ/เครื่องจักรถูกลง

 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า เงินบาทที่แข็งค่านั้น จะเป็นผลลบกับทุกคนในประเทศ เพราะไม่ว่าเงินบาทจะแข็งหรืออ่อนค่า ต่างก็มีคนได้และคนเสียผลประโยชน์เช่นกัน กรณีที่บาทแข็งค่าก็เช่นกัน หากเป็นการซื้อสินค้าหรือจะใช้เงินสกุลต่างประเทศ จะใช้เงินบาทน้อยลงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าต่างประเทศ ที่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าลดลง ประชาชนที่ซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศได้ถูกลง เห็นจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่สั่งของจากต่างประเทศเติบโตอย่างมาก และที่เห็นชัดคือ การเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศที่จะใช้เงินบาทน้อยลง ช่วง 11 เดือนจึงมียอดคนไทยไปเที่ยวนอกสูงเป็นประวัติศาสตร์ที่ 12.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจะใช้โอกาสนี้นำเข้าอุปกรณ์ เครื่องจักร เพื่อเตรียมลงทุนเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะทิศทางปีหน้า ตลาดเริ่มมองแล้วว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทจะเป็นไปใน 2 ทิศทางคือ ทั้งอ่อนค่าและแข็งค่าขึ้น ต่างจากปี 2562 ที่เป็นการแข็งค่าในทิศทางเดียว

 

ค้าปลีกยอดขายหดตัว

 

ในปี 2562 เชนค้าปลีกที่มีผู้เล่นอยู่ในตลาด 5 กลุ่มใหญ่ ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 70% ต่างประสบปัญหายอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการรุกของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce) ที่ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ที่หันไปซื้อสินค้าหรือการช็อปบนออนไลน์แทน ซึ่งวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้มองย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน เพราะผู้ประกอบการค้าปลีกต่างมองว่า “อี-คอมเมิร์ซ” ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบ เพราะเชื่อมั่นในสินค้าและบริการที่นำเสนอ อีกทั้งการศึกษาพฤติกรรมลูกค้าเชิงลึก พร้อมกับการทำตลาดที่ตอบโจทย์และโดนใจ เพื่อเป็นการสร้างรีเลชัน และทำให้เกิดการซื้อซํ้า อีกทั้งยังเชื่อว่า สินค้าและบริการหลายประเภทไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกโซเชียล

 

อย่างไรก็ตามจากการรุกของอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น และเห็นความชัดเจนของอี-คอมเมิร์ซ ที่เข้ามามีบทบาทหรือมีอิทธิพลในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อสินค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างๆ หยุดนิ่งไม่ได้ ที่จะต้องปรับตัว


พลิกวิกฤติ เป็น โอกาส  สร้างองค์กร  พาธุรกิจ   STRONG

 

ปรับตัวสู่อี-คอมเมิร์ซ

 

นางณัฐธีรา จิราธิวัฒน์ บุญศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด กล่าวยอมรับว่า การลุกขึ้นมาปรับ เว็บไซต์ central.co.th ใหม่ก็เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการช็อปปิ้งที่เปลี่ยนไป เมื่อพฤติกรรมคนไทยใช้ชีวิตติดอินเตอร์เน็ต และพบว่า 1 ใน 5 ของกิจกรรมยอดนิยมบนโลกออนไลน์ คือ การช็อปปิ้ง

 

ในปี 2562 คาดว่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ จะขยายตัวได้ไม่ตํ่ากว่า 20% สวนทางกับธุรกิจค้าปลีกที่มีการเติบโตเพียง 2.8% ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกเติบโตตํ่าสุดในรอบหลายๆ ปีก็มาจากการหันไปช็อปปิ้งผ่านทางโลกโซเชียล นั่นเอง เมื่อค้าปลีกไม่สามารถขวางกั้นการเข้ามาของโลกโซเชียลได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องหันกลับมามองคือ จะนำมาต่อยอดและใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร

 

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ต่างหันทุ่มงบก้อนโตลงทุน Digital Technology เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่เรียกกันว่า E Business  (รูปธรรมของ E Business ที่เรารู้จักกันดีก็คือ O2O หรือ Omni Channel ซึ่งเป็นการเชื่อมห้างร้านในโลกออฟไลน์เข้ากับเทคโนโลยีโลกออนไลน์อย่างลงตัว) ซึ่งผลพวงครั้งนี้ จะเริ่มให้ผลเป็นรูปธรรมการเชื่อมออฟไลน์กับออนไลน์อย่างไร้รอยต่ออย่างชัดเจนไม่เกินปี 2565”

 

โรงงานลดกำลังผลิต-เลิกจ้าง

 

ขณะที่ 3 ตัวแปรหลักขย่มโลก ทั้งพิษสงครามการค้า วิกฤติเศรษฐกิจโลก และปัญหาบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาค เป็นต้นเหตุหลัก ที่ทำให้การส่งออกไทยไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จนนำมาสู่การออกมาประกาศลดคนงาน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากพึ่งพาตลาดส่งออก นำเงินเข้าประเทศเป็นลำดับต้นๆ โดยการผลิตรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน ลดลงถึง 21.9% ติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 7 จากปัจจัยยอดการส่งออกรถยนต์ลดลง 24.7% เมื่อเจอแรงต้านหนัก ทำให้ค่ายรถยนต์บางรายต้องออกมาประกาศโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ บางบริษัทออกมาประกาศชัดเจนถึงแผนลดคนในสายการผลิต ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ออกมาประกาศหยุดการทำงานชั่วคราว

 

รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม บางรายประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้ประเทศคู่ค้ามีผลกระทบต่อยอดสั่งซื้อ บางบริษัทเคยทำรายได้สูงกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันร่วงลงมาเหลือเพียง 50% ต้องใช้มาตรการลดจำนวนการผลิตลงและในที่สุดประกาศเลิกจ้างลูกจ้าง โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) รายงานว่า อัตราการใช้กำลังผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2562 ลดลงมาเหลือ 63.17% เท่านั้น

 

ปรับตัวใช้หุ่นยนต์แทนแรงงาน

 

จากภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ประกอบการไม่ได้ปรับตัวตามยุคดิสรัปชัน ขณะที่ผู้อยู่รอดจะอาศัยโอกาสช่วงเงินบาทแข็งค่านี้ ปรับปรุงองค์กร โดยเฉพาะการหันมาปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาใช้แทนแรงงานเพิ่มมากขึ้น และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อีกทางหนึ่ง

 

เห็นได้จากยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ในช่วงมกราคม-กันยายน 2562 พุ่นขึ้นสูงถึง 118 โครงการ เงินลงทุน 1.32 หมื่นล้านบาท และเป็นโอกาสให้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยช่วงดังกล่าวมีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าราว 790 ล้านบาท จากปี 2561 มีมูลค่าเพียง 140 ล้านบาท 

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3535 วันที่ 29 ธันวาคม 2562 - 1 มกราคม 2563