ซีพี ซื้อ “โลตัส” ไม่ง่าย “กขค.” จ้องอยู่

29 ธ.ค. 2562 | 03:51 น.

 

กลับมาฮือฮาอีกครั้ง เมื่อสื่อนอกอย่าง “บลูมเบิร์ก”  รายงานว่า มี  3 กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย จะซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย 

 

โดย 3 กลุ่มบริษัทใหญ่ จาก 3 ตระกูลคือ ซีพี ของตระกูลเจียรวนนท์  , เซ็นทรัล กรุ๊ป ของตระกูลจิราธิวัฒน์  และทีซีซี กรุ๊ป ของตระกูลสิริวัฒนภักดี

 

งานนี้เหมือน “ซีพี” ของเจ้าสัวธนินท์  เจียรวนนท์ จะมีภาษีมากสุด เพราะถือเป็นผู้ปลุกปั้น ก่อร่างสร้างชื่อ “เทสโก้ โลตัส” ในเมืองไทย ก่อนที่จะขายต่อออกไปในช่วงวิกฤต

ซีพี ซื้อ “โลตัส” ไม่ง่าย  “กขค.” จ้องอยู่

ก่อนหน้านี้ “เจ้าสัวธนินท์” เองก็เคยออกมาบอกว่า “การจะไปขอซื้อเทสโก้ โลตัสโดยที่เขาไม่ขาย เป็นการเสียมารยาท  แต่หากเขาจะขาย เราก็ยินดีที่จะซื้อ

 

ปัจจุบันทรัพย์สินของเทสโก้ โลตัสในไทยมีมูลค่ากว่า  10,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 3 แสนล้านบาท ซึ่งเรื่องเงินสำหรับ “ซีพี” ไม่น่าจะใช่ปัญหา ยิ่งในช่วงวิกฤตของ “บริษัทเทสโก้”  ในอังกฤษ การเจรจาต่อรองจึงไม่น่ายากเย็น

 

แต่หาก “ซีพี” ต้องการซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัสจริง แน่นอนว่าสิ่งที่ซีพีจะเผชิญคือ  “การผูกขาด” หรือมีอำนาจเหนือตลาด  ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อครั้งตัดสินใจซื้อ “แมคโคร” ซีพีก็ถูกข้อกล่าวหานี้เช่นกัน

 

ล่าสุดนายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์  กรรมการการแข่งขันทางการค้าและโฆษกคณะกรรมการ การแข่งขันทางการค้า  (กขค.) ได้ออกมาเตือนเช่นกันว่า หากการซื้อขายกิจการ “เทสโก้ โลตัส” เกิดขึ้นจริง จะต้องดำเนินการขออนุญาตและต้องได้รับการอนุญาตจากกขค. ก่อน ที่จะทำการรวมธุรกิจได้  เนื่องจากเข้าข่ายเป็นการรวมธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

ซีพี ซื้อ “โลตัส” ไม่ง่าย  “กขค.” จ้องอยู่

โดยพ.ร.บ. แข่งขันทางการค้าฯ ได้กําหนดแนวปฎิบัติไว้ 2 แนวทาง  คือ 1.  เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้วอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด  คือมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% และมียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกิน 75%  ต้องขออนุญาต จาก กขค. ก่อนและต้องได้รับการอนุญาตจึงจะทําการรวมธุรกิจได้

 

2.  เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้ว อาจก่อให้เกิดการแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสําคัญ ต้องแจ้งให้ กขค. ทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ  โดย กขค. ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าเป็นการรวมธุรกิจที่มียอดเงินขาย          ในตลาดตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด หรือ เป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด

                                                                    ซีพี ซื้อ “โลตัส” ไม่ง่าย  “กขค.” จ้องอยู่

วันนี้ เครือซีพี  เป็นเจ้าของกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ 2 รายคือ  “เซเว่น อีเลฟเว่น” โดยบมจ. ซีพี ออลล์ และ “แม็คโคร” โดยบมจ.สยามแม็คโคร  แม้แบรนด์หนึ่งจะเป็นร้านสะดวกซื้อ หรือคอนวีเนียน สโตร์ และอีกแบรนด์เป็นศูนย์ค้าส่ง หรือแคช แอนด์ แครี่ แต่ต้องยอมรับว่าทั้งสองแบรนด์เป็นเบอร์ 1 ในตลาด                

 

ปี 2561 บมจ. ซีพีออลล์ มีรายได้รวม 5.27 แสนล้านบาท  เติบโต 7.9% มีกำไร 2.09 หมื่นล้านบาท ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2562 มีรายได้รวม 2.82 แสนล้านบาท เติบโต 9.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีกำไร 1.05 หมื่นล้านบาท 

ซีพี ซื้อ “โลตัส” ไม่ง่าย  “กขค.” จ้องอยู่

 ขณะที่ บมจ. สยามแม็คโคร มีรายได้รวม 1.88 แสนล้านบาท เติบโต 3.2% มีกำไร 5,942 ล้านบาท  ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2562 มีรายได้รวม 1.03 แสนล้านบาท   มีกำไร 2,703 ล้านบาท 

 

 เครือซีพี มีรายได้จากกลุ่มค้าปลีก 2 รายใหญ่นี้กว่า 7 แสนล้านบาท หากซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัสสำเร็จ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีก  1.98 แสนล้านบาท  คำนวณเล่นๆ เครือซีพี จะมีรายได้จากธุรกิจค้าปลีกเกือบ 1 ล้านล้านบาท  คิดเป็น 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งเมืองไทย ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท  อาจจะไม่เข้าข่ายผูกขาด แต่หากเจาะลึกเข้าไปดูในธุรกิจ “ร้านสะดวกซื้อ”  ซึ่งปัจจุบัน “เซเว่น อีเลฟเว่น” เป็นเบอร์ 1 ในตลาดซึ่งมีอยู่กว่า 1 หมื่นสาขา เมื่อควบรวมกับ เบอร์ 2 อย่าง “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส” ซึ่งมีอยู่กว่า 1,600 สาขา ย่อมถือครองตลาดเกิน 75% แน่นอน 

 

ซีพี ซื้อ “โลตัส” ไม่ง่าย  “กขค.” จ้องอยู่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ดีลยักษ์‘โลตัส’3แสนล้าน ‘ซีพี-เจริญ-เซ็นทรัล’โดดซื้อยึดตลาดค้าปลีก

กฎหมาย "แข่งขันทางการค้า" ด่านใหญ่ขวาง "ผูกขาด"