คู่ชกแห่งปี 2562 ‘ซีพี-บีทีเอส’ คู่ชิงอมตะเมกะโปรเจ็กต์อีอีซี

27 ธ.ค. 2562 | 15:18 น.

กองเชียร์ลุ้นระทึกอย่างต่อเนื่องยาวนาน สำหรับ “คู่ชก” นัดหยุดโลก บนสังเวียนอีอีซีหรือเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (กลุ่มซีพี) กับบีทีเอส กรุ๊ป หรือ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม ต่างออกอาวุธชิงดำ 2 โปรเจ็กต์ยักษ์ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่า 2.24 ล้านบาท และ มหานครการบิน อู่ตะเภามูลค่า 2.9 แสนล้านบาท

โครงการแรกไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินกระดูกสันหลัง อีอีซีกลุ่มซีพี และพันธมิตร คว้าไปครอง เฉือนชนะคู่แข่งอย่างกลุ่มบีทีเอสเพียง 5.27 หมื่นล้านบาท โดยขอรัฐสนับสนุนเพียง 1.17 แสนล้านบาท พร้อมได้สิทธิพัฒนาที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ ที่ดิน 25 ไร่ บริเวณสถานีศรีราชา ขุมทรัพย์บนดินตลอดเส้นทาง อีกทั้งได้สิทธิบริหารจัดการเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์ ที่มีผู้โดยสารนับแสนคนต่อวันนอนรอในมือ หากชำระเงิน 1 หมื่นล้านบาทเศษให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หลังลงนามในสัญญา (วันที่ 24 ตุลาคม 2562)

 

 คู่ชกแห่งปี 2562 ‘ซีพี-บีทีเอส’ คู่ชิงอมตะเมกะโปรเจ็กต์อีอีซี

ทว่ากลุ่มซีพี มาสะดุดขาตัวเองระหว่าง “ฟุตเวิร์ก” เมื่อถูกกองทัพเรือตัดสิทธิการแข่งขันประมูลมหานครการบินเนื่องจากยื่นเอกสาร (กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9) ล่าช้าเลยกำหนดเวลา จนเป็นเหตุให้กลุ่มซีพีร้องศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว แต่ยกแรกศาลปกครองกลางกลับยกคำร้อง กลุ่มซีพีไม่ละความพยายาม ร้องศาลปกครองต่อเนื่อง ขอเปิดซองราคาเพื่อความเป็นธรรม ขณะกองทัพเรือเดินหน้าเปิดซองราคา กลุ่มบีทีเอส (บีบีเอส จอยท์เวนเจอร์ มี บมจ.การบินกรุงเทพ ฯลฯ ถือหุ้น และกลุ่มบีทีเอสถือหุ้นใหญ่) กับคู่แข่งที่เหลือ (แกรนด์คอนซอเตียม) ผลปรากฏ กลุ่มบีทีเอสชนะขาดลอยให้ผลตอบแทนรัฐ สูงถึง 3.05 แสนล้านบาท

ยังไม่ทันสิ้นเสียงการแสดงความยินดีของกองเชียร์ของฝั่งกลุ่มบีทีเอส ศาลปกครองสูงสุด ชี้ขาดฟาดเปรี้ยง กลุ่มซีพีได้ไปต่อ โดยมีคำสั่งให้เปิดซองราคา

อย่างไรก็ตามกองเชียร์ต้องตามลุ้นกันอย่างใจจดใจจ่อว่าในที่สุดแล้วใครจะเป็นผู้คว้าชัยตัวจริงสำหรับ “เมืองการบิน”

 

หน้า 8-9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,535 วันที่ 29 ธันวาคม 2562 -1 มกราคม 2563