อีอีซีปี62สะดุด ลงนามร่วมทุน 4 แสนล.พลาดเป้า

03 ม.ค. 2563 | 02:30 น.

 

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า การผลักดันโครงการหลักของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ที่ตั้งเป้าหมายจะลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน การดำเนินงานพลาดเป้าหมายไปหลายโครงการ มีเพียง 2 โครงการเท่านั้น ที่ภาครัฐสามารถลงนามสัญญาร่วมทุนรัฐและเอกชน ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าราว 2.24 แสนล้านบาท ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามร่วมทุนกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตรหรือกลุ่มซีพี และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 มูลค่าราว 5.54 หมื่นล้านบาท ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ได้ลงนามกับกลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอลฯ ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 เป็นต้นไป

 

ถูกฟ้อง 2 โครงการ

ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือ F มูลค่า 1.14 แสนล้านบาท มีปัญหากลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ที่ตัดสิทธิในการเข้าร่วมประมูล เนื่องจากไม่ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติ ยื่นเอกสารในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ไม่ครบถ้วน และไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารการคัดเลือกเอกชน ต่อมาศาลปกครองกลางตัดสินแล้ว ให้เพิกถอนการตัดสิทธิดังกล่าว ส่งผลให้ขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกสะดุดลง จากเดิมที่คาดว่า จะลงนามในสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (กลุ่มกัลฟ์) ในปี 2562 ต้องเลื่อนไปในปี 2563

รวมทั้งโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าการลงทุน 2.9 แสนล้านบาท มีผู้เข้ายื่น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส กลุ่ม Grand Consortium และกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรหรือกลุ่มซีพี ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากถูกตัดสิทธิการประมูล จากการยื่นเอกสารเลยระยะเวลาที่กำหนด จนถึงขณะนี้กระบวนการฟ้องร้องดังกล่าวยังพิจารณาไม่ได้ข้อยุติ

 

อีอีซีปี62สะดุด  ลงนามร่วมทุน 4 แสนล.พลาดเป้า


 

 

MRO เงื่อนไขไม่จูงใจ

นอกจากนี้ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาหรือ MRO มูลค่าลงทุน 10,588 ล้านบาท เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอร์บัสฯ ยังติดปัญหาว่าทางแอร์บัส ยังไม่สามารถยื่นข้อเสนอการร่วมทุนได้ภายในปี 2562 ทำให้การคณะกรรมการคัดเลือกฯไม่สามารถพิจารณาในรายละเอียดได้ ต้องเลื่อนลงนามในสัญญาร่วมทุนไปเป็นปี 2563

อีกทั้ง โครงการเขตส่งเสริมอุุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand)หรือ EECd มูลค่าการลงทุน 4,342 ล้านบาท มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นเจ้าภาพหลัก และมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เป็นผู้ดำเนินงาน ยังอยู่ระหว่างจัดทำร่างข้อกําหนดของผู้ว่าจ้าง (TOR) เพื่อให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น หลังจากที่เปิดประมูลมา 2 รอบ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งหากรวมทั้ง 4 โครงการ ที่ต้องสะดุด คิดเป็นมูลค่าการร่วมลงทุนราว 4.14
แสนล้านบาท

 

ปลื้มดึงลงทุนอุตฯเป้าหมาย

ส่วนที่เป็นเชิดหน้าชูตาของอีอีซี ในปี 2562 คงจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ที่เห็นได้จากตัวเลขการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ในรอบ 9 เดือน(มกราคม-กันยายน 2562) คิดเป็นมูลค่ากว่า 5.73 แสนล้านบาท หรือราว 73.89 % ของการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดของประเทศที่ 7.76 แสนล้านบาท โดยเป็นคำขอส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี 4.78 แสนล้านบาท โดยมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ลงทุนสูงสุดที่ 3.42 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์ 8.55 หมื่นล้านบาท และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3.24 หมื่นล้านบาท และมีบริษัทที่สนใจมาลงทุนจริงในอีอีซีจำนวน 380 ราย มูลค่าการลงทุน 1.22 แสนล้านบาท อยู่ในจังหวัดชลบุรี 172 ราย มูลค่าลงทุน 2.28 แสนล้านบาท จังหวัดระยอง 143 ราย มูลค่าลงทุน 1.22 แสนล้านบาทและจังหวัดฉะเชิงเทรา 65 ราย มูลค่าลงทุน 1.78 หมื่นล้านบาท

อีกทั้ง มีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เข้าพบเจ้าหน้าที่และผู้บริหารเพื่อขอดูงานในพื้นที่อีอีซีมากกว่า 1 พันครั้ง จำนวนกว่า 7 พันราย

ขณะที่การพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) มีนักลงทุนได้ทยอยเข้าไปลงทุนเข้าไปในพื้นที่และเริ่มก่อสร้างอาคารต่างๆ เพื่อพัฒนานวัตกรรมแล้ว

อีกทั้ง การผลักดันแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคของพื้นที่อีอีซี โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากขึ้น

 

 

อีอีซีปี62สะดุด  ลงนามร่วมทุน 4 แสนล.พลาดเป้า