3 วิกฤติ  3 โอกาส ภาคเกษตร-การค้าไทย

01 ม.ค. 2563 | 03:05 น.

ในปี 2562 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปมีวิกฤติ และโอกาสเกิดขึ้นกับประเทศไทยมากมายหลายเหตุการณ์ ในส่วนของภาคเกษตร-การค้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ “ฐานเศรษฐกิจ” ขอหยิบยก 3 ไฮไลต์เด่นมานำเสนอดังนี้

 

 “ประกันรายได้”

เพิ่มโอกาสเกษตรกร

ปี 2562 ราคาสินค้าเกษตรของไทยและของโลกในภาพรวมมีราคาค่อนข้างต่ำตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัว หากรัฐบาลไม่ช่วยเติมเงินในกระเป๋าของเกษตรกรแล้ว คงยากที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนให้กลับฟื้นคืนมาได้

โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 รายการ ได้แก่ ปาล์มนํ้ามัน ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ครอบคลุมเกษตรกรที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการกว่า 2.05 ล้านครัวเรือน จึงเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ที่ต้องเร่งลงมือทำทันที

โดยปาล์มนํ้ามันเป็นสินค้าชนิดแรกที่กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งขับเคลื่อน ประกันรายได้ที่ 4 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เริ่มคิกออฟโครงการ และโอนเงินชดเชยส่วนต่างราคาตลาดกับราคาประกันเข้าบัญชีของเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)งวดแรกเมื่อวันที่ 1  ตุลาคม 2562 ตามด้วยข้าว ประกันรายได้ข้าวเปลือกหอมมะลิที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 1.4 หมื่นบาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 1 หมื่นบาทต่อตัน ข้าวหอมปทุมธานี 1.1 หมื่นบาทต่อตัน และข้าวเปลือกเหนียว  1.2 หมื่นบาทต่อตัน โอนเงินงวดแรกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562

ยางพารา ประกันรายได้ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาทต่อกก. นํ้ายางสด 57 บาทต่อกก. และยางก้อนถ้วย 23 บาทต่อกก. โอนเงินงวดแรก เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562,  มันสำปะหลัง ประกันรายได้ 2.50 บาทต่อกก. โอนงวดแรกวันที่ 1 ธันวาคม 2562 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตัวล่าสุด ประกันรายได้ที่ 8.50 บาทต่อกก. โอนงวดแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

3 วิกฤติ  3 โอกาส  ภาคเกษตร-การค้าไทย

 

สรุปเวลานี้ (ณ วันที่ 23 ธ.ค. 62)รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้เกษตรกรไปแล้ว 24,604.73 ล้านบาท คิดเป็น 36.3% ของวงเงินประกันรายได้รวม 67,778 ล้านบาท และจะมีการทยอยจ่ายให้เกษตรกรตามรอบที่ขอใช้สิทธิ และตามระยะเวลาโครงการของแต่ละพืชต่อไป

การเติมเงินให้กับเกษตรกรผ่านโครงการประกันรายได้ในครั้งนี้ แม้จะถูกมองว่าเป็นนโยบายหาเสียงเป็นการแจกเงิน ไม่ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้เศรษฐกิจหมุนเวียน แต่อีกด้านหนึ่งถือว่าเป็นการช่วยเกษตรกรคนส่วนใหญ่ของประเทศให้มีโอกาส มีรายได้ และมีกำลังจับจ่ายเพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมไม่ให้ตกต่ำไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อรอหวังเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาโครงการประกันรายได้อีกต่อไป

 

 

“เทรดวอร์” โอกาสไทย ท่ามกลางวิกฤติ

สงครามการค้า บวกเงินบาทแข็งค่าฉุดภาคการส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ช่วง 11 เดือนแรก ปี 2562 มูลค่าการส่งออกของไทยทำได้ที่  227,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงหรือติดลบ 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่าสิ้นปี 2562 การส่งออกของไทยคงไม่มีปาฏิหาริย์พลิกกลับมาเป็นบวกได้ แต่โอกาสการติดลบคงไม่เกิน 2%

ต้องยอมรับว่าสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่เริ่มเปิดฉากขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 ถึง ณ ปัจจุบันได้ขึ้นภาษีสินค้าตอบโต้กันไปมาหลายระลอก แม้ล่าสุดสถานการณ์มีท่าทีจะคลี่คลาย หลังทั้ง 2 ฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรก(เฟส 1) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 สาระสำคัญ สหรัฐฯเสนอจะยกเลิกการขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯอีก 15% (กำหนดเดิมจะขึ้นภาษีในวันที่ 15 ธ.ค. 62) พร้อมทั้งจะปรับลดภาษีสินค้า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหลืออัตรา 7.5%(จากอัตราเดิมบังคับใช้แล้วเมื่อ 1 ก.ย. 62) แต่ จะยังคงภาษี 25% สำหรับสินค้ามูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

3 วิกฤติ  3 โอกาส  ภาคเกษตร-การค้าไทย

 

ส่วนจีนตกลงจะซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯมูลค่าไม่ตํ่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเวลา 2 ปี รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้า การลงทุนที่สหรัฐฯมองว่าไม่เป็นธรรมอีกหลายประการ ข้อตกลงดังกล่าวทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการลงนามในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2563  แต่ในอนาคตยังไม่มีหลักประกันว่าสงครามการค้าครั้งนี้จะยังยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน เพราะผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร

อย่างไรก็ตามท่ามกลางวิกฤติสงครามการค้าในช่วงที่ผ่านมา ด้านหนึ่งถือเป็นโอกาสของสินค้าไทยรวมถึงสินค้าของประเทศอื่น ที่จะส่งไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ และส่งไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯในตลาดจีนที่ทั้ง 2 ฝ่ายขึ้นภาษีตอบโต้กัน และเป็นโอกาสของประเทศในการดึงการลงทุนจากจีน และจากสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตส่งออกไปจีน และสหรัฐฯ รวมถึงส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้า และเป็นโอกาสของไทยในการหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯและจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันกว่า 25% ของการส่งออกไทยในภาพรวม ซึ่งยังต้องลุ้นว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 2563 จะพลิกกลับมาเป็นบวกได้หรือไม่

 

 

“อาร์เซ็ป”ความหวังใหม่

ขยายค้า-ลงทุนไทย

ถือเป็นความสำเร็จของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 ที่สามารถขับเคลื่อนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP หรือ อาร์เซ็ป) จนบรรลุผลการเจรจาครบทั้ง 20 บท ซึ่งที่ประชุมผู้นำอาร์เซ็ป(16 ประเทศ) ครั้งที่ 3 ณ กรุงเทพฯ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ได้ออกแถลงการณ์ร่วมประกาศความสำเร็จของการบรรลุผลการเจรจา ยกเว้น 1 ประเทศคืออินเดียที่ยังไม่บรรลุความตกลง เนื่องจากยังมีข้อกังวลหลายประการ เช่น การเปิดตลาดสินค้าที่เกรงสินค้าจีนจะทะลักเข้าไปบุกตลาดมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมในอินเดียเสียหาย รวมทั้งต้องการให้ประเทศสมาชิกเปิดตลาดสินค้าและบริการที่อินเดียมีศักยภาพในการส่งออก เป็นต้น

แม้จะยังมีปัญหาที่ถือเป็นวิกฤติในส่วนของอินเดีย แต่ความตกลงอาร์เซ็ปยังคงเดินหน้าต่อ โดยผู้นำมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดียที่ยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ สมาชิกจะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียเพื่อให้เป็นที่พอใจร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ประเทศสมาชิกมุ่งหวังว่าอินเดียจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563 โดยอาร์เซ็ปจะมีการประชุมระดับคณะกรรมการเจรจาในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2563 เพื่อสรุปประเด็นที่เหลืออยู่ทั้งหมดตามที่ผู้นำได้มอบแนวทางไว้

 

3 วิกฤติ  3 โอกาส  ภาคเกษตร-การค้าไทย

 

จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ความตกลงอาร์เซ็ป (16 ประเทศ รวมอินเดียแล้ว) หากมีผลบังคับใช้จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ของไทยและประเทศคู่เจรจาขยายตัว โดยจีดีพีของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 3.995% ปริมาณการบริโภคครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.746% ปริมาณการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.934% ปริมาณการบริโภคภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.368% ปริมาณการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.355% และปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.932%

นอกจากนี้จะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น ช่วยลดผลกระทบจากสงครามการค้า และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ เห็นได้จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 ไทยมีมูลค่าการค้า(ส่งออก+นำเข้า)กับกลุ่มอาร์เซ็ป(อาเซียน 10 ประเทศ บวก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) กว่า 264,489 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนถึง 60% ที่ไทยค้ากับโลก

ท่ามกลางวิกฤติที่อินเดียยังมีความไม่แน่นอนว่าจะยังคงอยู่ หรือจะถอนตัวจากอาร์เซ็ปหรือไม่ แต่หากความตกลงอาร์เซ็ปมีการลงนาม และมีผลบังคับใช้ในปี 2563 (หวังอินเดียเข้าความตกลงในภายหลัง) อาร์เซ็ปจะเป็นเกราะคุ้มภัย ที่ช่วยขยายการค้า การลงทุนของไทยให้ขยายตัวต่อไปได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,535 วันที่ 29 ธันวาคม 2562-1 มกราคม 2563

3 วิกฤติ  3 โอกาส  ภาคเกษตร-การค้าไทย