ค้าปลีกไทยปีหน้าอ่วม! ปัจจัยลบรุม-กำลังซื้อทรุด

26 ธ.ค. 2562 | 09:20 น.

ชี้ทิศค้าปลีกไทยปี 2020 ไม่ฟื้น แนะผู้ประกอบการเฝ้าระวัง หลังสัญญาณเลิกจ้างงานพุ่ง ภัยแล้งพ่นพิษสินค้าเกษตรหด ฉุดกำลังซื้อชนชั้นกลาง-ล่าง จับตาเชนค้าปลีกใหญ่ดิ้นหนีหันปักหมุดขยายภูธร-ต่างประเทศ


นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมค้าปลีกในปี 2020 คาดว่าจะมีการเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้คือเพียง 2.8% โดยจะมาจากการเติบโตของค้าปลีกภูธรเป็นหลัก ขณะที่เชนค้าปลีกขนาดใหญ่ในภาคกลางจะมีการเติบโตลดลงเล็กน้อยหรือทรงตัว โดยปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การเลิกจ้างและลดการผลิตในประเทศ, ภาวะภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร, การปรับค่าแรงขั้นตํ่าที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงานภาคบริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และก่อสร้าง ซึ่งไม่สามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนได้ และผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากกำลังซื้อของคนชั้นกลาง-ล่าง ซึ่งมีสัดส่วนราว 70% ของจำนวนประชากร ซึ่งหนี้ครัวเรือนนี้จะมีผลต่อกำลังซื้อ และการจับจ่ายในการบริโภคเป็นหลัก

ค้าปลีกไทยปีหน้าอ่วม!  ปัจจัยลบรุม-กำลังซื้อทรุด

                                     วรวุฒิ อุ่นใจ

ขณะที่สถานการณ์ค้าปลีกในปี 2563-2565 ซึ่งมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 2.4 ล้านล้านบาทไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบขนส่งทางราง การพัฒนาโครงข่ายถนน เช่น การสร้าง Motorway การพัฒนาท่าเรือ การพัฒนาท่าอากาศยาน รวมถึงการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ ซึ่งเริ่มดำเนินการอย่างเต็มที่ในปีหน้า จะส่งผลถึงอุตสาหกรรมค้าปลีกในครึ่งหลังของปี 2564 แต่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกชัดเจนขึ้นในปี 2565

 

ทั้งนี้อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยในปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 3.8 ล้านล้านบาท การเติบโตจากนี้ไปจะมาจากค้าปลีกภูธร ที่กำลังพัฒนาในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำค้าปลีกค้าส่งในจังหวัด ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนราว 20% ของภาพรวม ที่คาดว่าจะมีการขยายตัวมากกว่า GDP ของประเทศเป็น 2 เท่า และจะขยายตัวออกนอกพื้นที่นอกจังหวัดมากขึ้น ส่วนกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือ Modern Chain Store ซึ่งมีศูนย์การบริหารจัดการอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลักมีสัดส่วนราว 32% จะเน้นขยายตัวไปสู่ภูมิภาคและต่างประเทศมากขึ้น ทำให้การเติบโตภาคค้าปลีกในประเทศค่อยๆ ชะลอตัวและทรงตัวในที่สุด

ค้าปลีกไทยปีหน้าอ่วม!  ปัจจัยลบรุม-กำลังซื้อทรุด

อย่างไรก็ดี ทิศทางของค้าปลีกขนาดใหญ่ในช่วง 2-3 ปีนี้ เริ่มลงทุน Digital Technology เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่เรียกกันว่า “E Business” ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงโลกออฟไลน์และออนไลน์ไว้ด้วยกันหรือ Omni Channel (O2O) และจะเห็นชัดเจนขึ้นไม่เกินปี 2565

 

 

ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 2.8% ลดลงจากปีก่อนที่เติบโต 3.2% ถือว่าตํ่ากว่าที่ควรเป็น โดยพบว่าเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตมากได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต รองลงมาได้แก่ สุขภาพและความงาม (Health & Beauty) ขณะที่เซ็กเมนต์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ คือ ห้างสรรพสินค้า, บ้านและวัสดุก่อสร้าง และ Home Appliance and Electronic, ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอนวีเนียน สโตร์

ค้าปลีกไทยปีหน้าอ่วม!  ปัจจัยลบรุม-กำลังซื้อทรุด

“ปัจจัยบวกที่จะช่วยผลักดันให้ค้าปลีกไทยมีการเติบโต ได้แก่ มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นชิม ช้อป ใช้, 100 บาท เที่ยวทั่วไทย เป็นต้น, การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2563, นโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ยังมีช่องว่างให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มเติบโตจากนักท่องเที่ยวจีนที่จะกลับมาเพิ่มมากขึ้นในปีหน้า” 

 

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3534 วันที่ 26-28 ธันวาคม 2562