ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบปี 63 มีแนวโน้มทรงตัว ดูไบเฉลี่ย 55 - 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

26 ธ.ค. 2562 | 06:58 น.

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบปี 2563 มีแนวโน้มทรงตัว จากปริมาณการผลิตน้ำมันปรับสูงขึ้น ราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 55 - 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

 

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบปี 63 มีแนวโน้มทรงตัว ดูไบเฉลี่ย 55 - 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ภาวะตลาดน้ำมันดิบและคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2563

 

ในปี 2563 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 55 - 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สำนักงานพลังงานสากล-IEA รายงาน ณ เดือนธันวาคม 2562) ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ร้อยละ 3.4 (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ-IMF) รายงาน ณ เดือนตุลาคม 2562) ซึ่งฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัว หลังธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกได้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ผ่านการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยการลดอัตราดอกเบี้ยและเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะมาจากทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนมีแนวโน้มดีขึ้น หลังมีการเจรจาการค้าระยะแรกเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2562 และคาดการณ์ว่าจะมีการเจรจาระยะต่อไปภายในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากข้อตกลงเดิมที่ปรับลดการผลิตที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปสู่ระดับ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เพื่อต้องการรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน นอกจากนี้ กำลังการผลิตของประเทศอิหร่านและประเทศเวเนซุเอลายังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง หลังถูกจำกัดการส่งออกจากมาตรการคว่ำบาตรของประเทศสหรัฐอเมริกา ยิ่งไปกว่านั้น ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางยังส่งผลต่อความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านอุปทานน้ำมัน

 

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในปี 2563 ยังถูกกดดัน เนื่องจากอุปทานน้ำมันโลกจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นราว 1.8 - 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศนอร์เวย์ ประเทศแคนาดา และประเทศบราซิล ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันของประเทศสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของแหล่งผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศ หลังมีการเปิดดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในปี 2562 และ 2563 โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศสหรัฐอเมริกาจะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงขึ้น 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับในปี 2562 ขณะที่ปริมาณการผลิตของประเทศนอร์เวย์จะปรับเพิ่มขึ้น 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังแหล่งผลิตน้ำมันดิบในทะเลเหนือเริ่มเปิดดำเนินการผลิตอย่างเต็มที่ในปี 2563 

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2562

 

ราคาน้ำมันดิบในปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 63 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับลดลงจากราคาเฉลี่ยในปี 2561 ที่ระดับ 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเติบโตชะลอตัวลงจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอ่อนตัวลง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2562 จะขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ร้อยละ 3.0 (รายงาน ณ เดือนตุลาคม 2562) ซึ่งปรับลดลงค่อนข้างมากจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 หลังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2562 จะเติบโตที่ระดับ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับลดลงจากปี 2561 ที่เติบโตที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศสหรัฐอเมริกายังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2562 กำลังการผลิตน้ำมันดิบในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ระดับ 12.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าสูงขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ขณะที่ในปี 2562 การส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศสหรัฐอเมริกาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยที่ระดับ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือร้อยละ 48.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการเปิดดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันแห่งใหม่ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมทั้งปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงของประเทศอิหร่านและประเทศเวเนซุเอลาที่ถูกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบในประเทศอิหร่านและประเทศเวเนซุเอลาปี 2562 ลดลง 1.2 และ 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

 

ที่มา : ไทยออยล์