คลัง หารือ"แบงก์ชาติ"แก้เกณฑ์ LTV

26 ธ.ค. 2562 | 01:49 น.

คลัง เตรียม หารือแบงก์ชาติ ปรับเกณฑ์ LTV แก้ปัญหากู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน ทำภาคอสังหาฯ ป่วน ส่วนการแก้ไขเอสเอ็มอียังไม่คืบ หลังแบงก์เสนอให้ บสย.ช่วยรับความเสี่ยงเพิ่มเป็น 50% แลกปล่อยกู้ พร้อมสั่งรวบหนี้ลดดอก ช่วยลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล


นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ถึงการจัดทำมาตรการผ่อนปรนเข้าถึงแหล่งเงิน ซึ่งจะได้ข้อสรุปหลังเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ โดยในเบื้องต้นจะมีการออกชุดมาตรการเพื่อดูแลเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการตัวเล็กให้มีศักยภาพและเติบโตได้ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยเรื่องไหนที่ต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาได้ก่อน ก็จะส่งให้ดำเนินการ อย่างไรก็ตามคลังต้องการให้ออกมาเป็นแพ็คเกจเพื่อดูแลมากกว่าการออกมาตรการแยกเป็นส่วนๆ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วานนี้สศค. ได้ร่วมประชุมกับตัวแทนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อเร่งสรุปมาตรการผ่อนปรนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยจะมีการช่วยเหลือทั้งเอสเอ็มอี ประชาชนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน ตลอดจนความเป็นไปได้ถึงการผ่อนปรนมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา

“หลังมีเกณฑ์ LTV ออกมาได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งประชาชนที่ขอสินเชื่อซื้อบ้านยากขึ้น โดยพบมากกว่า 50% ที่กู้ไม่ผ่านและโดนปฏิเสธจากธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็เจอปัญหายอดขายติดลบ และเหลือคอนโดมิเนียมค้างสต็อกหลายหมื่นยูนิต ดังนั้นคลังจะต้องเร่งหาข้อสรุป เพื่อลดผลกระทบจากแอลทีวี ช่วยให้ประชาชนกู้บ้านได้ง่ายขึ้นตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี”แหล่งข่าว กล่าว

ส่วนการแก้ปัญหาเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถขอกู้ได้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมอนุมัติสินเชื่อเพราะกลัวเป็นหนี้เสีย เรื่องนี้ล่าสุดทางสมาคมธนาคารไทย ได้ยื่นเงื่อนไขขอให้ บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกันรับความเสี่ยงเอสเอ็มอีให้มากกว่าเดิม เพื่อแลกกับการให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยปล่อยกู้ โดยเสนอให้ บสย.ช่วยรับความเสี่ยงเพิ่มเป็น 50% ของวงเงินกู้ จากปัจจุบันที่รับความเสี่ยงเพียง 30% รวมถึงให้เพิ่มเงื่อนไขการขอรับเงินชดเชยความเสี่ยงกรณีเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียได้เร็วขึ้น

 

ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ โครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีค่า (พีจีเอส8) จากปัจจุบันที่ได้รับวงเงินค้ำประกัน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อให้ บสย.มีกำลังเข้าไปช่วยค้ำประกันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้จำนวนมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามเบื้องต้นทางคลังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของธนาคารพาณิชย์ เพราะเป็นการผลักภาระความเสี่ยงให้กับรัฐ และ บสย.มากเกินไป เนื่องจากในการปล่อยกู้ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์มีหลักทรัพย์ค้ำประกันถึง 70% `ของวงเงินกู้อยู่แล้ว 

ขณะที่การแก้ปัญหาสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลให้ประชาชน เบื้องต้นมีแนวคิดให้ธนาคารรัฐ เข้าไปช่วยลดภาระการผ่อนชำระสำหรับคนที่มีหนี้อยู่หลายแห่ง เพื่อลดภาระการผ่อนในแต่ละเดือนให้น้อยลง รวมถึงการเปิดรีไฟแนนซ์สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิตในอัตราดอกเบี้ยถูก เพื่อลดรายจ่ายดอกเบี้ยแก่ประชาชน เช่น กรณีประชาชนเป็นหนี้กับสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) หลายแห่ง ก็สามารถเข้ามาขอสินเชื่อกับธนาคารรัฐเพื่อไปปิดบัญชีกู้ยืมทั้งหมด และค่อยมาผ่อนกับธนาคารรัฐแทนได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นการรีไฟแนนซ์ของหนี้ดีเท่านั้น ไม่รวมกับกรณีเป็นหนี้เสีย เพราะในการแก้ปัญหาหนี้เสีย ได้มีโครงการ คลินิกแก้หนี้ของ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) ที่ดำเนินการอยู่