"กอบศักดิ์" ตั้งเป้ากองทุนหมู่บ้านแก้จน มีเงินออม13ล้านล้าน

25 ธ.ค. 2562 | 05:48 น.

วันที่ 25 ธันวาคม 62 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จัดการสัมมนาฐานเศรษฐกิจ "เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก ลงหลัก ปักฐาน สร้างไทย"  ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงเเรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร  โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษ“กองทุนหมู่บ้านฯ ยุทธศาสตร์แก้เหลื่อมล้ำคนฐานราก” 

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่ง ย้ำถึงความสำคัญของกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งเป็นกลไกหลักของยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศจากโดยคนฐานราก เพราะการพัฒนาประเทศไทยในรอบ 50 ปี ที่ผ่านมาเปรียบเหมือนผู้ป่วยเป็นโรคตาลขโมย คืออ หัวโต พุงโร กันปอด แขนขาลีบ กรุงเทพโต ภาคตะวันออกโตจากอีสเทิร์นซีบอร์ด แต่ชนบทกลับไม่พัฒนาด้วย ตอกย้ำด้วยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่าคนไทย 4-5 ล้านคน มีเงินเฉลี่ย 50 บาท จาก 90 ล้านบัญชี แต่ 1 แสนบัญชี มีเงินเท่ากับครึ่งหนึ่งของประเทศไทย

 

"กอบศักดิ์" ตั้งเป้ากองทุนหมู่บ้านแก้จน มีเงินออม13ล้านล้าน


จากนั้นดร.กอบศักดิ์ ยกตัวอย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำของฮ่องกง ชิลี สหรัฐอเมริกา จีน ดังนั้นถ้าประเทศไทยไม่ระวังจะเกิดปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งการแก้ปัญหาต้องพูดความจริง

รองเลขาธิการนายกฯ กล่าวเปรียบเทียบอีกว่า นายกรัฐมนตรีแต่ละคนที่เข้ามาบอกว่าจะสร้างตึกให้สูงขึ้นไปเรื่อย แต่ถ้าเราไม่สร้างฐานตึกให้แน่นตึกก็จะล้ม นี่คือปัญหาของประเทศที่มุ่งทางสูงแต่ไม่มุ่งฐานราก นี่คือคำตอบของประเทศไทยในการแก้ปัญหาฐานรากให้เข้มแข็งให้ไปได้ เพื่อบรรลุความสำเร็จที่แท้จริง ดังนั้นเราต้องสร้างความเข้มแข็งจากล่างขึ้นบนไม่ใช่จากบนลงล่าง 

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวอีกตอนหนึ่งว่า ถึงสาเหตุของความจน 3 ประการ คือ 1.หนี้นอกระบบ ที่คิดดอกเบี้ยอัตราสูง 20-30% และต้องจ่ายรายวัน เปรียบเหมือนประชาชนก็โดนพยาธิหรือปลิงดูดเลือดอยู่ เพราะทำมาหากินแล้วนำไปใช้หนี้นอกระบบหมด 2.ปัญหาคนกลาง คือ ปลูกพืชผลการเกษตรแต่ขายไม่ได้ราคา เพราะมีคนกลาง ยังไงก็ต้องขายสินค้าเพื่อไม่เช่นนั้นพืชผลจะเน่าเสีย 3.ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก ทำเหมือนเดิมทุกปี ปีที่แล้วขาดทุน ปีนี้ยังปลูกเหมือนเดิมก็ขาดทุนซ้ำอีก 

จากนั้น รองเลขาธิการนายกฯ เล่าถึงโครงการของกองทุนหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบ อาทิ โครงการออมวันละ 1 ซึ่ง อย่างเช่นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา อ.หนองสาหร่าย มีการออมวันละบาทจนปัจจุบันกองทุนมีเงินออมจำนวนมาก ลองคิดว่าหากหนึ่งตำบลมีสมาชิก 3-4 พันคน ออมวันละ 1 บาท ต่อปีก็มีเงินออมหลักล้าน จากนั้นนำมาจัดสวัสดิการในชุมชนได้  เป็นธนาคารชุมชน เก็บออมได้  ให้อำนาจชุมชนในการตัดสินใจ 

รวมทั้งเล่าถึงโครงการธนาคารต้นไม้ โครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา ในการดึงสมาชิกกองทุนปลูกต้นไม้มีค่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเป็นสินทรัพย์ในการเป็นหลักประกันเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐอีกด้วย พร้อมกับขอเชิญสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน 13 ล้านคน มามาร่วมปลูกต้นไม้คนละ 1 ต้น

“หากสมาชิก 13 ล้านคน ปลูกต้นไม้เดือนละต้น ปีหนึ่งคนละ 12 ต้น ก็เท่ากับ 150 ล้านต้น 3ปีต่อเนื่อง 450 ล้านคน เมื่อต้นไม้โต 15-20  ปี จะมีเงินออมประมาณ 13 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้กองทุนประกันสังคมยังต้องเขินอาย เพราะมีเงินออมแค่ 2 ล้านล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นมีการเตรียมพันธุ์ไม้มีค่าตั้งแต่เดือนนี้ จากนั้นเดือนกรกฎาคมกองทุนหมู่บ้านจะเข้าอายุครบ 19 ปี เราจะเริ่มร่วมกันปลูกต้นไม้พร้อมกัน นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นกองทุนบำนาญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จะทำให้เป็นการเก็บออมที่ยิ่งใหญ่ของคนไทย และคนไทยจะไม่มีปัญหาเรื่องเกษียณอายุเลย”

ในตอนท้าย ดร.กอบศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ชาวกองทุนหมู่บ้านต้องลุกมาเริ่มต้นการออม ทุกชุมชนทั่วไทยจะมีเงินออม โดยที่ให้ประชาชนคิดแล้วรัฐบาลทำการสนับสนุนให้ ยืนยันว่าที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้คิดเองคนเดียว แต่ฟังมาจากชาวบ้านแล้วรวบรวมให้ เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพลิกฟื้นประเทศไทย