ชู ‘นวัตกรรม’  พลิกโฉมยางไทย  เพิ่มรายได้เกษตรกร

27 ธ.ค. 2562 | 06:55 น.

สัมภาษณ์

ปี 2562 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมกับ สถาบันพลาสติก คาดการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยปี 2562 จะมีมูลค่ารวม 9,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10.68% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่ส่งออกมูลค่า 8,177 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่สถานการณ์ในปี 2563 จะเป็นอย่างไรนั้น เป็นช่วงรอยต่อที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีคณะกรรมการ(บอร์ด)ชุดใหม่เข้ามาบริหารยางทั้งระบบ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายประพันธ์ บุณยเกียรติ” ประธานบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยคนล่าสุดถึงทิศทางการขับเคลื่อนองค์กร และอุตสาหกรรมยางพาราในปี 2563 และเพื่อให้ยังคงอยู่คู่กับประเทศไทยไปอีกยาวนาน

ชู ‘นวัตกรรม’  พลิกโฉมยางไทย  เพิ่มรายได้เกษตรกร      

                                  ประพันธ์  บุณยเกียรติ

ชูนวัตกรรมดันยางพาราไทย                       

นายประพันธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ กยท. จะต้องเร่งดำเนินการคือ งานปรับปรุงการวิจัยนวัตกรรมยางทั้งระบบ โดยจะร่างระเบียบใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สอดรับกับทิศทางและตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต ซึ่ง ณ วันนี้ประเทศไทยผลิตยางพาราได้เฉลี่ย 4.5 ล้านตันต่อปี แต่ยังขายยางแบบเดิม ๆ คือขายเป็นวัตถุดิบ ซึ่งหากย้อนอดีตถอดโมเดลอังกฤษ ที่มีปฏิวัติอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาก็มีนวัตกรรมจึงทำให้เปลี่ยนโลก ดังนั้น “นวัตกรรม” คือคำตอบที่จะทำให้ชาวสวนยางมีรายได้มากกว่าเดิมไม่ใช่ผูกติดกับราคายางเช่นทุกวันนี้

“ยกตัวอย่างมีสวนยางพารา 20 ไร่ ผมจะมีองค์การจัดการความรู้ใหม่ แม้ขายยางได้ 40 บาทต่อกิโลกรัม แต่สามารถทำให้ชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 3 หมื่นบาท สิ่งที่พูดไม่ได้เพ้อฝัน เพราะผมเป็นคนในวงการ มีธุรกิจส่วนตัวทำให้มีความรู้ในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางใหม่ๆ ที่จะนำมาช่วยเกษตรกรในการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าต่อไป ทั้งนี้หากมีใครมาอวดเก่งว่าสามารถเสกราคายางในปีหน้าได้เท่าโน้นอย่าไปเชื่อ ผมเองก็เสกไม่ได้ แต่ผม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และพนักงาน กยท. ทุกคน พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยใส่นวัตกรรมและองค์ความรู้เข้าไป ถ้าเราเดินแนวนี้ชีวิตชาวสวนยางจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแน่นอน”

ชู ‘นวัตกรรม’  พลิกโฉมยางไทย  เพิ่มรายได้เกษตรกร

 

 

เร่งแก้โรคใบร่วง-เดินหน้าบอร์ดสัญจร

นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 9 มกราคม 2563 จะนัดบอร์ด กยท.หารือนอกรอบ เพื่อระดมความเห็นในการขับเคลื่อนยางพาราทั้งระบบด้วยนวัตกรรม หรือถ้ามีเครือข่ายที่คิดว่ามาช่วยเรื่องนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือราชการก็ให้เชิญมาร่วมด้วย

ขณะที่พร้อมทำงานเชิงรุก โดยเดือนกุมภาพันธ์จะมีการประชุมบอร์ดสัญจรลงพื้นที่อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ถือเป็นฐานทัพใหญ่ของ กยท. เพื่อที่จะรับฟังปัญหาของชาวสวนยางด้วยในส่วนของโรคใบร่วง ซึ่งเป็นเชื้อโรคชนิดใหม่ที่สร้างความเสียหายให้กับยางพารา ในวันที่ 13-15 มกราคม 2563 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการยางพาราโลก โดยจะเชิญนักวิชาการระดับนานาชาติมาระดมความเห็น เพื่อจัดการโรคนี้ให้ได้

“ทิศทางราคายางในปี 2563 น่าจะดีกว่าปี 2562 เพราะรัฐบาลมีการเปิดตลาดใหม่ ได้ลูกค้ารายใหม่ๆ มีการซื้อขายยางจริง ทั้งตะวันออกกลาง อินเดีย และจีน ประกอบกับรัฐบาลโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้ใช้ความพยายามในการขายยางพาราเท่าที่ทราบขายยางได้แล้วร่วม 2 หมื่นล้านบาท จำนวน 10 สัญญา ปริมาณยางแสนตัน ที่ได้ลงนามในเอ็มโอยูแล้ว และรอเซ็นสัญญา”

ชู ‘นวัตกรรม’  พลิกโฉมยางไทย  เพิ่มรายได้เกษตรกร

 

หวังรัฐประกันรายได้ยางต่อ

อนาคต กยท.จะต้องสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาวให้กับผู้มีส่วนได้เสีย และองค์กรต้องเป็นที่รู้จักกับสาธารณชนให้มากขึ้นไม่ใช่รู้จักเพียงในแวดวงชาวสวนยาง หรือผู้ประกอบธุรกิจการยางเท่านั้น ส่วนโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางมีระยะเวลา 6 เดือน (ต.ค.62-มี.ค.63) ยังตอบไม่ได้ว่าจะต่ออายุโครงการหรือไม่ ถ้าต่อก็ขอบคุณ แต่ถ้าไม่ต่อก็ต้องเข้าใจ

สำหรับยางพาราที่อยู่ในความดูแลของ กยท. เวลานี้มี 1.04 แสนตัน จาก 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพ จำนวน 53,097.90 ตัน และโครงการมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง (บัฟเฟอร์ฟันด์) จำนวน 51,452.50 ตัน

“ยางในสต๊อกเมื่อมีผมก็ยืนยันว่ามี ซึ่งเมื่อไปเซ็นเอ็มโอยูมาแล้ว หากจะขายก็ต้องขาย เพราะไม่เช่นนั้นจะมีคำถามว่ายางในสต๊อกมีทำไมไม่ขาย ทำไมไปซื้อของใหม่มาขาย แต่หากขายยางในสต๊อกผ่านพ่อค้าผมพูดตรง ๆ ว่าไม่มีแน่นอน”

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,534 วันที่ 26-28  ธันวาคม 2562

                  ชู ‘นวัตกรรม’  พลิกโฉมยางไทย  เพิ่มรายได้เกษตรกร