5 เรื่องเร่งด่วน เพื่อรับมือเศรษฐกิจถดถอย 2020

25 ธ.ค. 2562 | 03:00 น.

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,534 วันที่ 26-28 ธันวาคม 2562

 

เศรษฐกิจไทยเริ่มต้นส่งสัญญาเข้าสู่ภาวะขาลง อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2018 ซึมยาวต่อเนื่องตลอดปี 2019 และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอยในปี 2020 อันเป็นผลมาจากสงครามการค้า เชื่อว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยก็คงอยู่ในช่วงขาลงอย่างแน่นอน

ถ้าผมมีโอกาสให้คำแนะนำรัฐบาลไทย ผมคิดว่า 5 เรื่องเร่งด่วนที่รัฐไทยต้องเร่งเดินหน้าปฏิบัติ น่าจะเป็นดังนี้

1. ต้องเร่งผ่านการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของ ...งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งจริงๆ ควรจะต้องแล้วเสร็จและเบิกจ่ายงบประมาณได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยงบประมาณรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาทที่วางแผนไว้ เมื่อผ่านการพิจารณาในวาระที่ 3 อย่างเร็วที่สุดก็น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นั่นเท่ากับงบมหาศาลที่เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกิดความล่าช้าไปเกือบครึ่งปี

ดังนั้น เมื่อพ...มีผลบังคับใช้ รัฐบาลต้องเร่งให้กระบวนการเบิกจ่ายเงินออกไปหล่อเลี้ยงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกิดขึ้นให้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะงบลงทุนที่มีมูลค่าราว 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่สามารถเบิกจ่ายได้อย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ ตุลาคม 2562-กุมภาพันธ์ 2563 การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายการคลังผ่านรายจ่ายภาครัฐ (และการก่อหนี้สาธารณะซึ่งแทบจะทำไม่ได้ในช่วงที่ ...งบฯ ปี 2563 ยังไม่ผ่าน) จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือบริหารจัดการเศรษฐกิจหลักของภาครัฐและเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

2. ธนาคารแห่งประเทศไทยคงต้องทำงานหนักขึ้นในการเร่งทำการศึกษาว่า ในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยเข้าสู่ภาวะกับดักสภาพคล่องแล้วหรือไม่ (กับดักสภาพคล่อง หรือ Liquidity Trap คือภาวะที่แม้จะเพิ่มปริมาณเงิน ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยปรับลดลง แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมเงินไปลงทุนและ/หรือไปบริโภคได้ตามที่คาดไว้)

แน่นอนว่าคงต้องทำงานกับสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด เพราะถ้า ธปท. เติมเงินเข้าระบบ แต่สถาบันการเงินกลัวความเสี่ยงและไม่กล้าปล่อยกู้ การใช้นโยบายการเงินก็จะไม่ได้ผล

ดังนั้นถ้าประเทศยังไม่เข้าสู่กับดักสภาพคล่อง การเพิ่มปริมาณเงิน ลดอัตราดอกเบี้ย น่าจะต้องถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะนอกจากจะกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศได้แล้ว ดอกเบี้ยที่ลดลงยังส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงและทำให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้นได้

โดยนอกจากเพิ่มปริมาณเงินแล้ว อีกนโยบายเศรษฐกิจหนึ่งที่ ธปท. คงต้องเร่งดำเนินการคือ นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เพราะค่าเงินบาทแข็งในช่วงเศรษฐกิจขาลง น่าจะทำให้ผู้ประกอบการ เจ็บตัวและส่งผลเสียมากกว่าผลดี ในความเป็นจริงแล้วบาทจะอ่อนไปแค่ไหน หรือบาทจะแข็งไปแค่ไหน ผู้ประกอบการไม่ได้มีความกังวล เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่ผู้ประกอบการกลัวมากกว่าคือ ค่าเงินที่แกว่งตัวและไม่มีเสถียรภาพ

 

5 เรื่องเร่งด่วน  เพื่อรับมือเศรษฐกิจถดถอย 2020

 

ดังนั้นหากบาทจะแข็งค่า เราจะมีกลไกใดหรือไม่ในการส่งสัญญาณให้ภาคธุรกิจรับรู้รับทราบ หรือคาดเดาได้ว่ามันจะแข็งไปที่จุดไหน และมีหลักประกันได้หรือไม่ว่าค่าเงินจะนิ่งอยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งหากพิจารณาปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีอยู่ในราว 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (อันดับที่ 12 ของโลก ข้อมูล สิงหาคม 2019) นั่นเท่ากับเราน่าจะมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งเพียงพอที่จะแทรก แซงค่าเงินเพื่อให้ค่าเงินไม่แกว่งตัว และอาจต้องพิจารณาหาสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างระบบปริวรรตเงินตราแบบ Floating Exchange Rate และ Currency Band

 

 

3. การนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานจริงในการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ อาทิ กระทรวงการคลัง ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และกระทรวงดิจิทัลฯ สมควรอย่างยิ่งที่จะนำเอาระบบ AI มาวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ที่ได้มาจาก Application ถุงเงิน และ Application เป๋าตังค์ ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการรับและจ่ายเงินในโครงการชิม ช้อป ใช้ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีข้อมูลว่า จริงๆ แล้วผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่ น่าจะเป็นชนชั้นกลาง มีรูปแบบพฤติกรรมการบริโภค การจับจ่ายใช้สอยอย่างไร

ผลการวิเคราะห์ต้องเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการได้สามารถเข้าถึงและนำไปใช้งานได้ เพื่อให้พวกเขารู้ว่า Insight หรือความต้องการแท้จริงของลูกค้าของเขาคืออะไร คนไทยกิน ใช้ ช็อปอะไรอย่างไร แน่นอนว่าโครงการการวิเคราะห์ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศโดยใช้ AI ที่ทำอยู่แล้วของกระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องถูกนำมาเปิดเผยและอนุญาตให้ผู้ประกอบการเข้าถึงด้วย เพื่อให้พวกเขารู้ว่าจะส่งออกไปที่ตลาดไหน ต้องพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการอย่างไรให้ตรงใจผู้ซื้อในแต่ละตลาด

4. โครงการ Thailand’s Simple and Smart License หรือ Regulatory Guillotine ของสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับ กพร. และกระทรวงต่างๆ (กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ที่ทำการศึกษาเพื่อตัดลดกระบวนงาน ตัดลดขั้นตอนและจำนวนใบอนุญาตในการทำกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการพิจารณาในการยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ไม่จำเป็น กฎหมายที่ล้าสมัยให้หายไปคราวละมากๆ

กิจกรรมเช่นนี้ต้องสานต่อและขยายขอบเขตของงานให้ครอบคลุมทุกกระทรวง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพราะเมื่อตัดลดขั้นตอน ความยุ่งยาก และการขอใบอนุญาตในการทำกิจกรรมต่างๆ ลงได้ ต้นทุนของผู้ประกอบการจะลดลงอย่างมหาศาล ทั้งต้นทุนที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ดัชนีความสามารถทาง การแข่งขันของประเทศ และดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจของประเทศปรับตัวสูงขึ้น ดึงดูดเงินลงทุนจากทั้งในประเทศและจากทั่วโลก และกระตุ้นให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตต่อไป

 

 

5. อีกสิ่งหนึ่งที่ไทยกำลังต้องการมากที่สุดตอนนี้คือ ภาวะผู้นำ การขอความร่วมมือทั้งจากมือเศรษฐกิจภาครัฐ คนเก่งๆ จากหน่วยงาน ราชการ นักวิชาการฝีมือดีๆ ดึงคนเก่งๆ จากภาคเอกชน รวมทั้งการยอมลดทิฐิมานะไปขอความช่วยเหลือจากมือเศรษฐกิจเก่งๆ ของฝ่ายค้าน หรือจะฝ่ายไหนก็ตามที่อาจจะเคยมองว่าเป็นศัตรูทางการเมือง

นาทีนี้ประเทศไทยต้องการ Dream Team ทางด้านเศรษฐกิจที่ทำงานสอดประสานกัน ต้องการหัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริง ที่มี วิสัยทัศน์ มองเห็นภาพรวมทั้งองคาพยพของระบบเศรษฐกิจ และสามารถทำงานประสานงานข้ามหน่วยงานได้ โดยที่ทุกภาคส่วนก็ยอมรับในภาวะผู้นำของท่านผู้นี้ และต้องกล้าที่จะปราบปรามทุจริต ไม่เล่นพรรคเล่นพวก เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทุกภาคส่วน

นี่คือหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในฝันที่เราต้องการมากที่สุด เพราะวิกฤติครั้งนี้ใหญ่มาก ต้องเริ่มจากยอมรับความจริง X-ray ให้เจอ ก่อนว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ไหน ต้องใช้เครื่องมือเศรษฐกิจทั้งนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่สอดประสานกัน ต้องการคนที่เข้าใจทั้งภาคเศรษฐกิจแท้จริง และภาคการเงิน มาทำงานเพื่อประเทศชาติแล้วครับ

 

5 เรื่องเร่งด่วน  เพื่อรับมือเศรษฐกิจถดถอย 2020