“สุริยะ”สั่งกรอ.เตือนโรงงานป้องกันไฟไหม้หน้าแล้ง

22 ธ.ค. 2562 | 07:07 น.

“สุริยะ” สั่งกรอ. แจ้งเตือนโรงงานเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันไฟไหมในช่วงหน้าแล้ง ห่วง 8 กลุ่มเสี่ยงสูง ด้านกรมโรงงานรับลูก-กำชับผู้ประกอบการปฏิบัติตามคู่มือและตรวจสอบสภาพวัตถุไวไฟ - เครื่องใช้ไฟฟ้าใกล้ชิด พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เอสเอ็มอีในการพัฒนาระบบการป้องกัน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสภาวะอากาศของประเทศไทยไทยที่เข้าสู่ฤดูแล้งจึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แจ้งเตือนโรงงานทั่วประเทศให้ระมัดระวังและเข้มงวดด้านความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูงใน 8 กลุ่ม ประกอบด้วย โรงงานสิ่งทอ เส้นใยจากพืช ฟอกย้อมผ้า, โรงงานแปรรูปไม้และเฟอร์นิเจอร์, โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก โฟม กระดาษ ยาง, โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี สารเคมี สารอันตราย, โรงงานผลิตสี ทินเนอร์ ก๊าซ วัตถุระเบิด กลั่นสุรา, โรงงานเกี่ยวกับกากหรือขยะอุตสาหกรรม รีไซเคิลของเสีย, โรงงานเกี่ยวกับอาหาร แป้ง มันสำปะหลัง อาหารสัตว์ และโรงงานประเภทอื่นๆ เช่น โกดังเก็บสินค้า งานซ่อม งานโลหะ เป็นต้น 
 “ผมมีความเป็นห่วงเรื่องนี้อย่างมากซึ่งอาจเป็นช่วงที่เกิดอัคคีภัยได้ง่าย ซึ่งที่ผ่านมาสาเหตุการเกิดไฟไหม้ในโรงงานมาจากไฟฟ้าลัดวงจร เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ชำรุด และความประมาท ดังนั้นจึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำชับไปยังผู้ประกอบการโรงงานให้ใส่ใจ ระมัดระวัง ตรวจสอบ ตรวจตราอุปกรณ์เครื่องจักรให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนกิจกรรมภายในโรงงานที่ทำให้เกิดประกายไฟ เช่น การเชื่อม การตัดเจียร การเผา และการใช้ความร้อน ต้องให้ความระมัดระวังอย่างสูง และมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน เพราะหากไม่มีความระมัดระวังปัญหาที่ตามมาคือความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศจนสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนและประชาชนด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว 

ด้าน นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้แจ้งเตือนโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้เพิ่มความระมัดระวังด้านความปลอดภัยในช่วงหน้าแล้งตามนโยบาย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมทั้งได้สั่งกำชับให้ผู้ประกอบการโรงงานปฏิบัติตามขั้นตอนเช็คความปลอดภัยการป้องกันอัคคีภัยในโรงงานช่วงหน้าร้อน และข้อควรระวังในการใช้ระบบความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น และคู่มือเอกสารความปลอดภัยต่าง ๆ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกาศผ่านทางเว็บไซต์ของกรมโรงงานฯ 
นอกจากนี้ กรอ. ยังกำหนดให้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน  โดยต้องปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (CSR-DIW) ซึ่งในส่วนของความรับผิดชอบต่อชุมชนโดยรอบจะครอบคลุมรัศมี 5 กิโลเมตร กำหนดให้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานในการสื่อสารระหว่างโรงงานกับชุมชนโดยรอบ โดยเป็นการทำงานร่วมกันแบบไตรภาคี ระหว่างชุมชน องค์กร และภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อสาร และการเข้าถึงข้อมูลของชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขอนามัย รวมถึงการแจ้งเหตุกรณีมีเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
สำหรับข้อปฏิบัติในการป้องกันอัคคีภัยในโรงงานช่วงหน้าแล้ง เช่น ต้องตรวจสอบบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า และสายไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยเป็นประจำ หากพบว่าชำรุด หลุดหลวม แตกร้าว ฉีกขาด หรือผุกร่อน ให้ดำเนินการซ่อมแซม หรือเปลี่ยนใหม่ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อการใช้โดยทันที 
ขณะที่การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเชื่อมโลหะ เช่น การก่อสร้าง หรือซ่อมแซมอาคารหรือเครื่องจักร ต้องมีวัสดุหรืออุปกรณ์ทนไฟเพื่อควบคุม ป้องกัน ปิดกั้นสะเก็ดไฟประกายไฟไม่ให้กระเด็นไปถูกวัสดุที่ติดไฟง่าย, อุปกรณ์การเชื่อม สายไฟ และข้อต่อที่หลวมหรือชำรุดต้องทำการแก้ไขให้อยู่ในสภาพปลอดภัย, ตรวจสอบการรั่วไหลของข้อต่อและวาล์วเป็นประจำ ถ้าพบว่ามีการไหลของแก๊สจากถังแก๊สให้หยุดการทำงานที่ใช้ไฟในบริเวณนั้นทันที และต้องดำเนินการป้องกัน และแก้ไขโดยเร็ว 
“ส่วนของการจัดเก็บนั้น หากมีสารไวไฟจำนวนมาก พื้นที่เก็บสารไวไฟควรแยกเป็นอาคารจัดเก็บไว้ต่างหาก ควรอยู่ภายนอกอาคารผลิต และต้องห่างกันอย่างน้อย 1 ช่วงถนน เพื่อป้องกันการลุกลามกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้, โดยอาคารจัดเก็บต้องระบายและถ่ายเทอากาศได้ดี เพื่อไม่ให้มีการสะสมของไอระเหยของสารไวไฟ นอกจากนี้ โครงสร้างของอาคารต้องสามารถทนไฟได้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง และจะต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่เหมาะสมกับชนิดของสารไวไฟที่จัดเก็บด้วย” นายประกอบ กล่าว 

สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานช่วง 9 เดือนของปี 62 (ตั้งแต่ม.ค. - ก.ย.) พบว่า มีโรงงานที่เกิดอุบัติเหตุ  จำนวน 55 ครั้ง แบ่งเป็นประเภทอุบัติเหตุ ดังนี้ อัคคีภัย 42 ครั้ง, สารเคมีรั่วไหล 8 ครั้ง, การระเบิด 2 ครั้ง, และอื่น ๆ  เช่น เครื่องจักรชำรุด หล่นทับ จำนวน 3 ครั้ง 
นายประกอบ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กรอ. ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านความปลอดภัย และให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น ระบบไฟฟ้า ความปลอดภัยหม้อน้ำ สารเคมี การบริหารความปลอดภัย การจัดทำแผนฉุกเฉิน นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จับมือกับสถาบันการศึกษาพัฒนาระบบและหลักเกณฑ์การป้องกันอัคคีภัยสำหรับเอสเอ็มอี ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาความปลอดภัยในโรงงาน โดยจะมีการอบรมให้ความรู้และพัฒนาโรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการนำความรู้ที่ได้ไปขยายผลสร้างความปลอดภัยให้เป็นหัวใจหลักของการดำเนินงานภายในโรงงาน โดยเฉพาะด้านอัคคีภัยต่อไป