เอาที่สบายใจ ซีอีโอหัวเว่ยลั่นไม่เคยหวั่นแรงบีบสหรัฐฯ

21 ธ.ค. 2562 | 08:12 น.

 

นาย เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมและสมาร์ทโฟนจากประเทศจีน กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า หากบริษัทกูเกิลไม่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา ให้กลับมาทำธุรกิจกับหัวเว่ยฯ ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์รุ่นใหม่ ๆ ของหัวเว่ยไม่สามารถใช้บริการและแอพพลิเคชั่นต่างๆของ Google Mobile Services (GMS) หัวเว่ยฯก็จำเป็นต้องเอาระบบของตัวเองมาใช้แทน "ผมเชื่อว่าในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า เราจะสร้างอีโคซิสเต็มที่จะใช้ร่วมกันทั่วโลกเองได้สำเร็จ" ซีอีโอของหัวเว่ยฯกล่าว

เหริน เจิ้งเฟย

นายเหรินเปิดเผยว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากๆ สำหรับทุกๆคน ไม่ใช่เฉพาะสำหรับหัวเว่ยฯ “ผมหวังว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะพักเรื่องการเมืองไว้ก่อน และคำนึงถึงประโยชน์ของบริษัทอเมริกันเป็นหลัก หัวเว่ยฯเชื่อมั่นในระบบห่วงโซ่การผลิตระดับโลกที่ทุกประเทศเกื้อหนุนกันเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย” 

 ผู้บริหารของหัวเว่ยฯวัย 75 ปี กล่าวว่าเขานับถือสหรัฐอเมริกาในฐานะชาติที่ยิ่งใหญ่และทุกคนที่หัวเว่ยฯก็ได้เรียนรู้อะไรมากมายจากความสำเร็จของสหรัฐฯ ความนับถือนั้นจะยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่เพื่อความอยู่รอด บริษัทจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมในกรณีที่บริษัทอเมริกันไม่ได้รับอนุญาตให้จัดส่งชิ้นส่วนให้หัวเว่ยฯ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น บริษัทก็ยังมีทางเลือกอื่น และถ้าหากในอนาคตหัวเว่ยฯ พบว่าทางเลือกใหม่แข็งแกร่งพอและไว้วางใจได้ บริษัทก็อาจจะไม่กลับไปหาเทคโนโลีของบริษัทอเมริกันอีกแล้วก็ได้

 

ทั้งนี้ หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศแบนหัวเว่ยฯในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทก็มุ่งมั่นพัฒนาและดำเนินธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันที่จะเป็นอิสระจากเทคโนโลยีของอเมริกาอย่างสิ้นเชิง 100% เมื่อเดือนกรกฏาคม นายจาง หมิงกัง รองประธานกรรมการบริหารของหัวเว่ยฯ ประเทศฝรั่งเศส คาดการณ์ว่า วันประกาศอิสรภาพดังกล่าวนั้นจะมาถึงในปี 2564 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าหัวเว่ยฯจะบรรลุเป้าหมายนั้นเร็วกว่าที่คาดไว้มาก

Huawei Mate 30

รายงานของ UBS และ Fomalhaut Techno Solutions พบว่า Huawei Mate 30 สมาร์ทโฟนแฟลกชิปรุ่นล่าสุดของบริษัท ไม่ใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์จากอเมริกาเลย เช่นเดียวกับสถานีฐาน 5G อันล้ำสมัยของหัวเว่ย ซีอีโอของหัวเว่ยฯ กล่าวย้ำเมื่อเดือนกันยายนว่า ขณะนี้หัวเว่ยฯ สามารถผลิตสถานีฐาน 5G ที่ปราศจากชิ้นส่วนของอเมริกาได้เดือนละ 5,000 ชุด เป็นการตอกย้ำว่าบริษัทอยู่ได้สบาย ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

 

สำหรับคำถามที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากกูเกิลไม่ได้ใบอนุญาตให้ทำธุรกิจกับหัวเว่ยฯ ซีอีโอของหัวเว่ยฯ กล่าวว่า บริษัทมีแผนสำรองรอไว้อยู่แล้ว และเสริมว่า หัวเว่ยฯ มีความตั้งใจและมีศักยภาพมากพอที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนอันดับ 1 ของโลก แต่ขั้นตอนดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาสักพัก เขาได้เปิดเผยข้อมูลว่าบริษัทจะเร่งเครื่องวางกลยุทธ์เพื่อกลับเข้าสู่ตลาดต่างประเทศในปี 2563

 

ส่วนคำถามเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ พยายามล็อบบี้ไม่ให้ประเทศพันธมิตรในยุโรปใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ยในเครือข่าย 5G นั้น ซีอีโอหัวเว่ยฯ กล่าวทิ้งท้ายในการสัมภาษณ์ว่า เขามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าทุกประเทศจะเห็นและตัดสินใจเลือกได้เองว่าต้องการจะใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ยฯหรือไม่

 

ในการรายงานผลประกอบการของบริษัทในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 24% ซึ่งเป็นตัวเลขรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (2562) สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรคแม้จะถูกสหรัฐฯแบล๊คลิสต์ นำชื่อเข้าบัญชีดำห้ามบริษัทอเมริกันทำธุรกรรมด้วยหากไม่ได้รับใบอนุญาต และแรงขับเคลื่อนผลประกอบการส่วนหนึ่งยังมาจากยอดขายสมาร์ทโฟนหัวเว่ยในตลาดจีนที่พุ่งสูงขึ้น