ชุลมุน ‘ภาษีที่ดิน’  ช่องโหว่...บนความไม่พร้อม

21 ธ.ค. 2562 | 23:30 น.

ผ่ามุมคิด

ให้อำนาจท้องถิ่นเต็มพิกัด เพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่โดยไม่พึ่งพางบประมาณรัฐ แต่ด้วยความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่ ทั้งปริมาณคน ความชำนาญ ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ส่งผลให้ต้องประกาศให้ประชาชนเลื่อนชำระภาษีทรัพย์สินออกไป

ทั้งที่กฎหมายให้เวลาเตรียมความพร้อม 1 ปี นับตั้งแต่ประกาศใช้ปี 2562 ที่สำคัญยังต้องเลื่อนการประกาศใช้ราคาประเมินออกไป เป็นปี 2564 ซึ่งการประเมินการรังวัดแปลงที่ดินว่างเปล่า ไม่สลับซับซ้อน, คอนโดมิเนียมมีราคาประเมินของตนเอง แต่ปัญหาใหญ่ คือ สิ่งปลูกสร้าง ที่ต้องแยกชิ้นส่วน คำนวณแบบยิบย่อย และเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่มีราคาประเมินสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้า

อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ค่อนข้างอ่อน ประชาชนผู้ครองทรัพย์สินไม่เข้าใจ ไม่มีการเตรียมความพร้อม เมื่อมีแบบให้ยืนยันการใช้ประโยชน์ ห้องชุดที่ถูกระบุว่าประเภทอื่นๆ ซึ่งในทางปฏิบัติหมายถึงไม่ใช่ที่อยู่อาศัยหากไม่ไปยืนยัน เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราพาณิชย์หรือที่ว่างจึงเป็นช่องโหว่ที่จะทำให้ประชาชน เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินความจริง

จากมุมสะท้อนของ นายอธิป พีชานนท์ ประธานสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ที่ระบุว่า การประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้รับรู้รับทราบ ทำความเข้าใจกับภาษีที่ดิน เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเชื่อว่าคนค่อนประเทศยังไม่เข้าใจ

ชุลมุน ‘ภาษีที่ดิน’  ช่องโหว่...บนความไม่พร้อม

อธิป พีชานนท์

 

ดังนั้น ท้องถิ่นควรลงทุนจัดทำคลิปสั้นๆ ทุกขั้นตอน การเสียภาษี นอกจากแผนพับ ป้ายประกาศ ทรัพย์สินแต่ละแปลงเสียภาษีต่างกัน ทั้งที่ควรเรียกเก็บรูปแบบเดียวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวตอัตราเดียว แต่รายได้จะมากหรือน้อยขึ้นกับราคาสินค้า

จากอัตราไม่เท่ากัน มีรายละเอียดยิบย่อย ส่อให้เกิดช่องโหว่เรียกค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจำนวน เรียกเก็บใต้โต๊ะแต่เจ้าหน้าที่บางรายอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เรียกเก็บรายได้ผิดประเภท ต้องอุทธรณ์ทำให้เกิดความวุ่นวาย

ขณะช่องโหว่กฎหมายที่ทำให้รัฐเสียรายได้ ทำให้รายได้ลดลงจากเป้าที่ตั้งไว้ ก็มี เช่น โอนให้ลูก ภรรยา หากมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท ไม่เสียค่าโอน, หากไม่ต้องการเสียภาษี บ้านหลังที่ 2 ให้รีบย้ายทะเบียนบ้าน, แยกทะเบียนเดิมจากบิดา-มารดาไป ยังที่อยู่ใหม่, นำบ้านที่แพงที่สุดจดทะเบียนเป็นบ้านหลังแรก

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,533 วันที่ 22-25 ธันวาคม 2562

                    ชุลมุน ‘ภาษีที่ดิน’  ช่องโหว่...บนความไม่พร้อม