ลุ้นระทึกสภาผู้แทนสหรัฐฯลงมติชงถอดถอนทรัมป์

19 ธ.ค. 2562 | 00:03 น.

 

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เริ่มกระบวนการอภิปรายในญัตติการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากตำแหน่งแล้ววานนี้ (18 ธ.ค.) โดยเป็นอภิปรายเพื่อลงมติให้ดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดีจากตำแหน่งใน 2 ข้อหา ได้แก่ การใช้อำนาจในทางมิชอบ และขัดขวางกระบวนการสอบสวนของสภาคองเกรส ความเคลื่อนไหวในสภาฯครั้งนี้ ทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ที่จะถูกสภาคองเกรสพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่ก็มีโอกาสสูงที่เขาจะรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรฯ ที่มีพรรคเดโมแครต (ฝ่ายค้าน) ครองเสียงข้างมาก จะทำหน้าที่ได้เพียงลงมติเพื่อชงเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และวุฒิสภาที่มีพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ก็จะเป็นผู้ตัดสินว่า ประธานาธิบดีทรัมป์สมควรถูกถอดถอนตามข้อหาที่สภาผู้แทนฯชงมาหรือไม่   

 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการถอดถอนในสภาผู้แทนราษฎรฯ เปิดฉากแล้ววานนี้ ราวเวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 21.00 น.ตามเวลาไทย เริ่มด้วยการอภิปรายซึ่งจะใช้เวลาราว 6 ชั่วโมง จากนั้นก็จะมีการลงมติต่อ 2 ข้อหาที่มีการกล่าวหาประธานาธิบดีทรัมป์ โดยการลงมติดังกล่าวจะอยู่ในช่วงเวลา 18.30-19.30 น.ตามเวลาสหรัฐฯ หรือเช้า 06.30-07.30 น.ตามเวลาไทยวันนี้ (19 ธ.ค.)

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวเปิดการอภิปรายโดยระบุว่า ขอเปิดการอภิปรายในญัตติถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะหากไม่ดำเนินการในขณะนี้ ก็จะถือว่าสภาฯได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ "ในวันนี้เรามา ณ ที่นี้เพื่อปกป้องประธิปไตยเพื่อประชาชน สิ่งที่เราจะหารือกันในวันนี้คือการกล่าวถึงความจริงที่ว่า ท่านประธานาธิบดีได้ละเมิดรัฐธรรมนูญ และเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ ตลอดจนบูรณภาพแห่งการเลือกตั้งของเรา ซึ่งเป็นรากฐานแห่งประชาธิปไตย" นางเพโลซีกล่าว

 

 

มีการคาดการณ์ว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเห็นชอบต่อการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรครีพับลิกันจะคัดค้านการถอดถอน ทั้งนี้ ระหว่างการรอผลการลงมติอย่างเป็นทางการในญัตติขอถอดถอนประธานาธิบดีด้วย 2 ข้อหานั้น นักวิเคราะห์ระบุว่าอาจจะใช้การลงมติของสภาผู้แทนฯในเรื่องการขอมติรับรองข้อระเบียบต่างๆเพื่อการเปิดอภิปรายอย่างเป็นทางการวานนี้เป็นแนวทาง ซึ่งผลออกมาว่า “รับรอง” ด้วยคะแนน 228 ต่อ197 เสียง โดยในการลงมติดังกล่าวมีส.ส.เดโมแครตเพียง 2 คนที่เป็นส.ส.งูเห่า คือ นายคอลลิน พีเตอร์สัน และนายเจฟฟ์ แวน ดรูว์ ที่โหวตสวนทางกับพรรค ขณะที่ฝั่งรีพับลิกัน ไม่มีใครแตกแถวเลย 

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนายเจฟฟ์ แวน ดรูว์ ส.ส.พรรคเดโมแครตจากรัฐนิวเจอร์ซีย์ เขาเคยออกมาแสดงจุดยืนก่อนหน้านี้แล้วว่า จะโหวตคัดค้านการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ก่อนที่เขาจะย้ายไปสังกัดพรรครีพับลิกัน

 

เชื่อสุดท้ายแล้ว อย่างไรก็รอด

หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ลงมติเห็นพ้องว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มีการใช้อำนาจในทางมิชอบ และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสภาคองเกรส วุฒิสภา (ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก) ก็จะทำการไต่สวนประธานาธิบดีทรัมป์ในเดือนหน้า (มกราคม 2563) อย่างไรก็ดี การที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ทำให้ทรัมป์มีแนวโน้มรอดพ้นจากการถูกถอดถอนในที่สุด

 

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบิล คลินตัน และประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน เคยถูกรัฐสภาดำเนินการอภิปรายและไต่สวนเพื่อถอดถอนจากตำแหน่งในปี 2541 และ 2411 ตามลำดับ แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้ถูกกระบวนการดังกล่าวถอดถอนจากตำแหน่ง นักวิเคราะห์เชื่อว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เอง ก็จะรอดพ้นจากการถูกสภาถอดถอนจากตำแหน่งเช่นกัน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ขณะที่สภากำลังเริ่มการอภิปรายญัติถอดถอนเขานั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัวระบุว่า สิ่งที่พรรคเดโมแครตกำลังทำอยู่ เป็นการโจมตีอเมริกาและพรรครีพับลิกัน เขาเชื่อว่านางเพโลซีจะได้ชื่อว่าเป็นประธานสภาผู้แทนฯที่ห่วยที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ นางเพโลซี ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากที่มีรายงานว่า ทรัมป์ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เพื่อกดดันให้มีการสอบสวนนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และบุตรชายของเขา ซึ่งมีการทำธุรกิจในยูเครน โดยการกระทำดังกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์ถูกมองว่าเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐฯ

 

นายไบเดนเป็นหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯจากพรรคเดโมแครต และถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์ หากทรัมป์ประสบความสำเร็จในการสกัดนายไบเดนออกจากการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาก็มีแนวโน้มสูงที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย

 

ลุ้นระทึกสภาผู้แทนสหรัฐฯลงมติชงถอดถอนทรัมป์

เศรษฐกิจดีช่วยหนุนคะแนนเสียงทรัมป์

ผลการสำรวจของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี All-America Economic Survey พบว่า ผู้ถูกสำรวจ 45% คัดค้านการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง ขณะที่ 44% ให้การสนับสนุนการถอดถอน ผลสำรวจดังกล่าวแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากการสำรวจครั้งก่อนในเดือนก.ย. ขณะที่ 10% ระบุว่า พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ ส่วน 11% ระบุว่ายังไม่แน่ใจ

 

ผลการสำรวจยังบ่งชี้ว่า ผู้ถูกสำรวจ 49% มีความพึงพอใจต่อการจัดการด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 42% ในเดือนก.ย. ขณะที่ผู้ที่ตอบว่า ไม่พึงพอใจต่อการทำงานของทรัมป์ด้านเศรษฐกิจมีสัดส่วนลดลงจากเดิม 50% เหลือ 40% นอกจากนี้ ผู้ถูกสำรวจ 40% ยังมีความพึงพอใจต่อผลการทำงานโดยรวมของประธานาธิบดีทรัมป์ ขณะที่ 49% ตอบว่า ไม่พึงพอใจ

 

การสำรวจดังกล่าวมีขึ้นในวันที่ 10-13 ธ.ค. โดยเป็นการสำรวจความเห็นของชาวอเมริกันกลุ่มตัวอย่าง 800 คนทั่วประเทศ

 

อีกผลการสำรวจเป็นของ สำนักสำรวจความคิดเห็น Gallop เปิดเผยวานนี้ (18 ธ.ค.) ว่าประชาชนอเมริกัน 45%พอใจในผลงานการบริหารประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  นับเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯเริ่มกระบวนการไต่สวนขอถอดถอนผู้นำสหรัฐฯ ในฤดูใบไม้ร่วง ความนิยมในตัวประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่มขึ้นราว 6%

 

Gallop รายงานว่า ความนิยมในตัวโดนัลด์ ทรัมป์สูงถึง 89% ในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันที่เขาสังกัดอยู่ แต่สำหรับผู้สนับสนุนเดโมเเครต ทรัมป์มีคะเเนนนิยมเพียง 8% เท่านั้น

 

ตั้งแต่ที่ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คะเเนนนิยมในตัวเขา แกว่งอยู่ในช่วง 34 ถึง 46% ตามรายงานของ Gallop ดังนั้น คะเเนนความนิยมล่าสุดที่ 45% จึงถือว่าอยู่ในระดับที่สูง สำหรับประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาถึงมรสุมการเมืองที่เขากำลังเผชิญ

 

ทั้งนี้ ข่าวดีจากโพลล์สำหรับประธานาธิบดีทรัมป์ เกิดขึ้นท่ามกลางสัญญาณเชิงบวกทางเศรษฐกิจ โดยเมื่อต้นเดือนธันวาคม กระทรวงแรงงานอเมริกันเปิดเผยว่า การจ้างงานในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 266,000 ตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนมกราคม ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงจากระดับ 3.6% เมื่อเดือนตุลาคม เป็น 3.5% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี ตัวเลขของกระทรวงแรงงานยังชี้ด้วยว่า อัตราค่าแรงในอเมริกาเพิ่มขึ้น 3.1% ในเดือน พ.ย.เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งข้อมูลเชิงบวกทางเศรษฐกิจเหล่านี้น่าจะมีผลให้คะแนนสนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ขยับสูงขึ้น