คาดกนง.ตรึงดอกเบี้ย 1.25% หนุนศก.โต

18 ธ.ค. 2562 | 04:40 น.

นายแบงก์ฟันธง กนง.คงดอกเบี้ย 1.25% ส่งท้ายปี 62  ประธานสมาคมแบงก์ลั่น พร้อมสนองนโยบายกนง. ด้าน “กรุงศรี” ห่วงดอกเบี้ยลด เป็นต้นทุนตํ่า หนุนคนเก็งกำไร แนะผสานนโยบายการเงิน การคลังสร้างฐานอุปสงค์ในประเทศ   

ในรอบปี 2562 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม กนง.มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 1.75% สู่ระดับ 1.50%  ลดลง 0.25% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปีจากนั้นในการประชุมครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน กนง.มติไม่เป็นเอกฉันท์ด้วย 5 ต่อ 2 เสียงเช่นเคยให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ทำให้ล่าสุดดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 1.25% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราตํ่าที่สุดในรอบ 10 ปี

การประชุมครั้งสุดท้ายของปีที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 18 ธันวาคมนี้ จึงเป็นที่จับตาท่าทีของบอร์ดกนง.จะส่งสัญญาณหรือตัดสินใจอย่างไร  หลังจากที่ก่อนหน้าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ส่งสัญญาณว่า จะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า หากไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ขณะที่วงเงินการเงินตลาดทุนต่างมองว่า การประชุมกนง.ครั้งสุดท้ายของปีน่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% เพื่อรอดูผลหลังจากได้ปรับลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา ส่วนแนวโน้มปีหน้า อาจจะเห็นกนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง หากภาพรวมเศรษฐกิจยังชะลอตัวมากกว่าที่ประเมินไว้

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยเปิดเผยว่า ส่วนตัวยังไม่แน่ใจว่า กนง.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ปรับลดไปแล้วและอยู่ในระดับตํ่าแล้ว ซึ่งธนาคารพาณิชย์เองก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม เพราะธนาคารพร้อมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยตามทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายอยู่แล้ว แต่ก็พยายามรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย(NIM) ไว้ ส่วนทิศทางผลการดำเนินงานปีหน้า ต้องรอสิ้นปีนี้ก่อน เพราะตอนนี้ผลการดำเนินงานยังไม่นิ่ง อีกทั้งปีหน้ายังมีจุดเปลี่ยนเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งเรื่องมาตรฐานบัญชี TFRS9 และแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมที่จะปรับลด

คาดกนง.ตรึงดอกเบี้ย 1.25% หนุนศก.โต

ปรีดี ดาวฉาย

ส่วนความต้องการสินเชื่อในส่วนของธนาคารกสิกรไทยคาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะจบได้ที่อัตรา 5% จากเป้าทั้งปีที่คาดว่าจะเติบโต 5-7% ส่วนปีหน้าประมาณการไว้ที่ 4-6% ส่วนประเด็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเชื่อว่า ทุกคนปรับตัวอยู่ในจุดหนึ่งและใช้เวลาในการแก้ไข หากภาวะเศรษฐกิจไม่แย่จนเกินไป ซึ่งธนาคารจะดูแลเอ็นพีแอลปีหน้า ทั้งปีไม่เกิน 4% โดยกำหนดกรอบระหว่าง  3.6-4% ขึ้นกับสถานการณ์ด้วย ส่วนการพิจารณาสินเชื่อนั้น หากกลุ่มธุรกิจไหนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจอาจมีการพิจารณาในกรอบกว้างๆ เช่น การส่งออกสินค้าบางประเภท แต่ไม่ถึงกับห้ามปล่อยสินเชื่อกลุ่มนั้นกลุ่มนี้

 

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่ากนง.มีโอกาส จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ เพราะรอประเมินผลหลังจากได้ปรับลดดอกเบี้ยไปแล้วก่อนหน้า 2 ครั้ง ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินปี 2563 มีความเป็นไปได้ที่กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้ง อัตรา 0.25% ในไตรมาสแรกปีหน้า สาเหตุจากสภาพเศรษฐกิจที่จะเติบโตตํ่ากว่าที่คาด โดยเฉพาะปัจจัยที่เกิดจากความเชื่อมโยงจากเศรษฐกิจต่างประเทศกับในประเทศ

ขณะที่แรงขับเคลื่อนภายในประเทศยังเหลือไม่มาก แม้กระทั่งความคาดหวังจากการลงทุนโครงการภาครัฐ ก็อาจจะเลื่อนหรือดีเลย์ออกไปในครึ่งปีหลังของปีหน้า ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีความไม่แน่นอนกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมา ซึ่งอาจจะเห็นการเติบโตดี แต่เนื่องจากเป็นปัจจัยต่างประเทศที่เคยมีประสบการณ์มาแล้วว่าไม่สามารถกำหนดได้ ดังนั้นจึงต้องสร้างฐานของอุปสงค์จากภายในประเทศเป็นสำคัญ เพื่อให้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น

นโยบายการเงินอาจจะผ่อนคลายโดยใช้อัตราดอกเบี้ยหรือเรื่องอื่น เช่น ผ่อนคลายการเข้าถึงสินเชื่อ หรือนโยบายที่เฉพาะเจาะจง เช่นต่างประเทศเขาดูเฉพาะกลุ่มมากขึ้นเพราะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการช่วยคนที่มีปัญหา จริงๆ กับคนที่ไม่มีปัญหาและเก็งกำไร เพราะฉะนั้นวิธีการจึงควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยควบคู่ไปกับเกณฑ์ในการกำกับเข้าถึงสินเชื่อของคนเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหา ไม่เช่นนั้นอัตราดอกเบี้ยที่ถูกก็จะเป็นต้นทุนที่ถูกกับคนเก็งกำไร

คาดกนง.ตรึงดอกเบี้ย 1.25% หนุนศก.โต

 

กรณีถ้ากนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง อาจจะช่วยให้ความรู้สึกดีขึ้น(Sentiment)ในระยะสั้น เพราะสะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายกำกับนโยบายการเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจังมากกว่าการประคอง โดยสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ต้องการนโยบายการเงินเข้ามาช่วยลดต้นทุนในการเข้าถึงทรัพยากรและการลงทุน เพื่อให้เกิดรายได้ในอนาคตและนโยบายการคลังจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินสู่ระบบเศรษฐกิจและเห็นผลกระตุ้นทันทีเมื่อ Sentiment มา นักลงทุนสามารถมีต้นทุนที่ถูกลงไม่ว่าจะขยายกิจการหรือหมุนเงินมากขึ้น

ทั้งนี้หากมองไปเศรษฐกิจนอกประเทศก็เห็นสัญญาณเสถียรภาพของเศรษฐกิจของประเทศหลักค่อนข้างนิ่งแม้จะไม่ผงกหัวขึ้น แต่ไม่ปรับลดลงต่อ เช่น สหรัฐฯ ส่วนยุโรปก็นิ่งโดยหวังว่านโยบายที่อัดฉีดมาของประเทศที่พัฒนาแล้วจะช่วยกระตุ้นทั้งเศรษฐกิจเขาและเศรษฐกิจโลกในปีหน้า

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,532 วันที่ 19-21 ธันวาคม 2562

                       คาดกนง.ตรึงดอกเบี้ย 1.25% หนุนศก.โต