“จุรินทร์”ดันฐานรากควบคู่ส่งออก เคลื่อนศก.ไทยปี 63

17 ธ.ค. 2562 | 16:35 น.

“จุรินทร์”มั่นใจ ประเทศมีความหวัง เร่งดันเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ส่งออกเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 63

ในการเสวนา : โฉมหน้าประเทศไทย 2020 ในงาน Nation Dinner talk ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 2020  จัดโดยเครือเนชั่น (วันที่ 17 ธ.ค.2562) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตอบคำถามถึงอนาคตเศรษฐกิจไทย และอนาคตเศรษฐกิจโลกว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะขยายที่ 3% และในปี 2563 จะขยายตัวได้ที่ 3.4% สำหรับประเทศไทยในปี 2562 คาดเศรษฐกิจ(จีดีพี)จะขยายตัวที่ 3% และปี 2563 คาดจะขยายตัวไม่น้อยกว่าเดิม ถือว่าเศรษฐกิจปีหน้าสำหรับประเทศไทยก็ยังมีภาพบวกอยู่ นี่คือภาพรวม

“จุรินทร์”ดันฐานรากควบคู่ส่งออก เคลื่อนศก.ไทยปี 63

 

ทั้งนี้ต้องยอมรับความจริงว่าภาวะกดดันทางการค้าภาพรวมทางเศรษฐกิจในระยะเวลาที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อปีนี้ไม่น้อยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน รวมทั้งประเทศไทยก็มาเจอปัจจัยพิเศษกว่าหลายประเทศ คือ ค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้ต้องเหนื่อยหน่อย แต่ภายใต้การทำนายของไอเอ็มเอฟก็ยังทำให้เรายังมีความหวัง โดยคาดว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ ซึ่งตนยังมองในแง่บวก

 

ขณะที่คำถามคือเมื่อสภาวะโลกเป็นอย่างนี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีแนวทางการขับเคลื่อนปี 2563 อย่างไรนั้น จากที่ได้เพิ่งเข้ามาเป็นรัฐบาล 4 เดือนกว่า ก็มีนโยบายที่ชัดเจน โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์หัวใจสำคัญที่ตนต้องรับผิดชอบหลักก็คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและขับเคลื่อนการส่งออก

 

 

สำหรับเศรษฐกิจฐานราก ในส่วนของเกษตรกรได้ขับเคลื่อนนโยบายประกันรายได้เกษตรกรบวกกับมาตรการคู่ขนานอื่น ๆ โดยการประกันรายได้พืชเกษตร 5 รายการ ได้แก่ 1.ข้าว 2.มันสำปะหลัง 3.ยางพารา 4.ปาล์มน้ำมัน และ 5. ข้าวโพด ทั้ง 5 รายการนี้ในระยะเวลา 4 เดือนเศษที่ผ่านมาสามารถดำเนินนโยบายจนกระทั่งประสบความสำเร็จ สามารถโอนเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรได้เกือบจะเรียกว่าครบแล้ว ขาดตัวเดียวคือข้าวโพดซึ่งจะโอนเงินในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ซึ่งถัดจากวันที่ 20 ธันวาคมก็แปลว่าสามารถโอนเงินส่วนต่างชดเชยรายได้เกษตรกรที่ลดลงมาจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำได้ครบถ้วนแล้ว

บวกกับมาตรการอื่นซึ่งกระทรวงการคลังเข้ามาช่วยเสริมและนโยบายประกันรายได้ นี่คือสิ่งที่เม็ดเงินลงไปสู่เศรษฐกิจฐานราก ถึงมือเกษตรกรเพราะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงไม่หายหกตกหล่นไปไหน นี่คือสิ่งที่ได้ทำมา

ส่วนในเรื่องการส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า และค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการส่งออกในภาวะวิกฤติ ต้องใช้ยาแรงหลายขนานควบคู่กันไป ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นครั้งแรกที่ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) โดยรัฐและเอกชนจับมือทำงานร่วมกัน และมีการตั้งวอร์รูมเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาและผลักดันการส่งออก

“จุรินทร์”ดันฐานรากควบคู่ส่งออก เคลื่อนศก.ไทยปี 63

 

ที่สำคัญที่สุดคือทูตพาณิชย์จากนี้จะทำหน้าที่ในลักษณะของการเจรจาเงื่อนไขทางการค้าอย่างเดียวไม่พอ หรือจะทำเรื่องเซลล์โปรโมชั่นส่งเสริมการขายไม่เพียงพอ จะต้องลงลึก เรามีสินค้าเกษตรข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด รวมถึงผลไม้ หัวใจสำคัญเหล่านี้ทูตพาณิชย์จะต้องทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนประเทศ หิ้วสินค้าเกษตรไปขายยังต่างประเทศด้วยไม่เว้นแม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเซลล์แมนประเทศและดำเนินการในการที่จะนำภาคเอกชน รวมทั้งภาคราชการไปขายสินค้าในต่างประเทศ แล้วนำยอดขายกลับเอาเงินรายได้เข้าประเทศด้วย

“เฉพาะที่ผมนำภาคเอกชนไปในช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมาทั้งไปจีน ไปอินเดีย ตุรกี สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน เราทำยอดขายได้เฉพาะช่วง 3-4 ทริปนี้ ตกแล้วประมาณ 6 หมื่นล้านบาทโดยประมาณ ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ไปจีนปีที่แล้วเราส่งออกมันสำปะหลังไปจีนทั้งปี 3 ล้านตัน เราไปเที่ยวนี้ครั้งเดียว ขายได้ 2.6 ล้านตันมูลค่า 18,000 ล้านบาท เรายังต้องทำต่อไป สำหรับยางพาราไปอินเดียมีแต่คนบอกว่าจะไปทำไมอินเดียจะไปขายได้อย่างไร แต่สุดท้ายเราไปอินเดียไปเปิดตลาดได้จริงสามารถขายยางพาราได้ 1 แสนตัน ได้เงินเข้าประเทศ 9,000 ล้านบาท”

 

 

สำหรับในปีหน้าจะยังเดินหน้าประกันรายได้เกษตรกร และต้องมีมาตรการคู่ขนานในการที่จะช่วยตรึงราคาพืชเกษตรแต่ละตัวให้ดีขึ้น ผลไม้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในนโยบายประกันรายได้ แต่ไม่ได้แปลว่าประกันรายได้ 5 ตัวนี้แล้วพืชเกษตรตัวอื่นรัฐบาลไม่ดูแล รัฐบาลดูทุกตัวแต่ใช้ยาคนละขนาน ผลไม้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากในช่วงที่ผ่านมา สามารถดึงราคาผลไม้ทั้งมังคุด ลำไย ลองกอง มะม่วง และทุเรียน ให้ราคาพุ่งจนกระทั่งคนไทยเกือบจะไม่ได้กินแล้ว ตอนนี้เราสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้

มาตรการที่สำคัญประการหนึ่งที่ไม่ทำให้ราคาผลไม้ตกลงมาคือ มาตรการที่ได้ขอความร่วมมือกับภาคเอกชนและให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับสายการบินต่าง ๆ ทั้ง นกแอร์ แอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ ไทยสมายล์ ในการที่จะช่วยให้ใครก็ตามที่เป็นผู้โดยสารแล้วหิ้วผลไม้ท้องถิ่นขึ้นเครื่อง สามารถโหลดขึ้นเครื่องฟรีได้ถึง 20 กิโลกรัม ไม่คิดค่าโหลดน้ำหนักเท่ากับประหยัดได้ 500-600 บาท ช่วยให้ผลไม้มีช่องทางระบายเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามจะไม่หยุดแค่นี้ ได้มอบนโยบายไปแล้วและกำลังดูอยู่ว่าถ้าเป็นปีหน้าจะไม่เฉพาะเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารโหลดผลไม้จากนราธิวาส จากอุตรดิตถ์ จากลำพูนขึ้นเครื่องมากรุงเทพฯ หรือไปจังหวัดไหนก็ได้โดยโหลดฟรี 20 กิโลกรัม ต่อไปจะให้โหลดขึ้นเครื่องอินเตอร์ไปต่างประเทศด้วย นี่คือสิ่งที่ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ไปศึกษาแล้วว่าประเทศไหนอนุญาตให้โหลดขึ้นเครื่องแล้วนำเข้าประเทศได้จะมีคำตอบมาเร็ว ๆ นี้

"ในปีหน้าจะบุกตลาดส่งออกเชิงรุกอย่างเข้มข้น โดยจะนำภาคเอกชนไปเจรจาขายสินค้า 16 ทริปใน 18 ประเทศ โดยนอกจากเจาะตลาดรายประเทศแล้ว จะเน้นเจาะตลาดรายมณฑลในจีน หรือรายรัฐในอินเดีย รวมถึงในประเทศอื่น ๆ จะเร่งรัดการเจรจาทำเอฟทีเอให้สำเร็จทั้งไทย-ตุรกี ไทย-ศรีลังกา ไทย-บิมสเทค  และจะจัดทำแผนเจรจาทำเอฟทีเอกับอียู ไทย-สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) ถ้าเบร็กซิทมีความชัดเจนแล้ว รวมถึงไทย-บังกลาเทศ ไทย-ฮ่องกง CPTPP จากปีนี้ดันสำเร็จแล้วในส่วนของ RCEP(อาร์เซ็ป)"